โควิด-19 ระลอก 3 ฉุดบริษัทตั้งใหม่เดือน เม.ย. ลด 32% เมื่อเทียบกับ มี.ค. เหตุคนเชื่อมั่นทำธุรกิจลดลง และมีวันหยุดยาว แต่เทียบ เม.ย. 63 เพิ่ม 49% เหตุฐานต่ำและปีที่แล้วเป็นช่วงล็อกดาวน์ มั่นใจครึ่งปีหลังฟื้นแน่หลังเริ่มฉีดวัคซีน พร้อมปรับเป้าทั้งปีใหม่เป็น 6.7-6.9 หมื่นราย
นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า เดือน เม.ย. 2564 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัทใหม่ทั่วประเทศจำนวน 5,972 ราย เทียบกับ มี.ค. 2564 ที่ผ่านมา ลดลง 32% และเทียบกับ เม.ย. 2563 เพิ่มขึ้น 49% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 20,697.64 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจในภัตตาคาร ร้านอาหาร ส่วนธุรกิจเลิกประกอบกิจการมีจำนวน 612 ราย เทียบกับ มี.ค. 2564 ลดลง 23% และเทียบกับ เม.ย. 2563 ลดลง 25% มีมูลค่าทุนจดทะเบียนจำนวน 5,162.68 ล้านบาท โดยประเภทธุรกิจเลิกประกอบกิจการสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร
สำหรับยอดรวมธุรกิจตั้งใหม่ช่วง 4 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-เม.ย.) มีจำนวน 29,361 ราย เพิ่มขึ้น 25% ทุนจดทะเบียน 90,772.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% ส่วนธุรกิจเลิกกิจการ 3,090 ราย ลดลง 22% ทุนจดทะเบียน 24,990.33 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37%
นายทศพลกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ในเดือน เม.ย. 2564 ที่ลดลงจากเดือนมี.ค. 2564 ที่ตั้งใหม่ทำสถิติสูงสุดถึง 8,841 ราย เพราะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจลดลง และในเดือน เม.ย. 2564 ยังมีวันหยุดยาวติดต่อกัน ทำให้มีวันทำการลดลงกว่าปกติ แต่เมื่อเทียบกับ เม.ย. 2563 เพิ่มขึ้น 49% เพราะเดือน เม.ย.ปีที่แล้วอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ ทำให้ฐานปีที่แล้วต่ำ โดยมีการจดตั้งธุรกิจใหม่เพียง 3,996 รายเท่านั้น
ทั้งนี้ กรมฯ มั่นใจว่าแผนการกระจายวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ปัจจุบันมีความชัดเจนมากขึ้น และจะเริ่มฉีดวัคซีนให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงสูง ผู้สูงอายุ และประชาชนทั่วไป ที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป จะส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการในครึ่งปีหลังฟื้นตัวขึ้น และจะทำให้มีการจดตั้งธุรกิจใหม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยกรมฯ ได้ปรับประมาณการเป้าหมายทั้งปีใหม่เป็น 67,000-69,000 ราย เพิ่มจากเดิม 64,000-65,000 ราย
ปัจจุบันมีธุรกิจดำเนินกิจการอยู่ทั้งสิ้น ณ วันที่ 30 เม.ย. 2564 จำนวน 795,160 ราย มูลค่าทุน 19.47 ล้านล้านบาท จำแนกเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำนวน 194,760 ราย คิดเป็น 24.49% บริษัทจำกัด จำนวน 599,109 ราย คิดเป็น 75.35% และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,291 ราย คิดเป็น 0.16% ตามลำดับ