xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ถกรัฐเร่งหาทางคัดแยกมาสก์ใช้แล้วกำจัดให้ถูกต้องป้องสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กลุ่มพลาสติก ส.อ.ท.เร่งระดมสมองร่วมรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแผนรับมือ ”หน้ากากอนามัย” ขยะครัวเรือนที่มีสูงและเริ่มกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หวังหาวิธีคัดแยกและกำจัดให้ถูกต้องเข้าโรงเผารับวิถี New Normal เล็งหาจุดและพื้นที่ให้ประชาชนทิ้งที่ต้องมีคนดูแล หลังพบหากวางแบบถังขยะทั่วไปเปิดช่องมิจฉาชีพนำไปซักล้างขายต่อง่ายขึ้นอีก

นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกกำลังหารือร่วมกับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานกรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ฯลฯ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากทางการแพทย์ (Mask)ใช้แล้วที่เริ่มมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้หน้ากากอนามัยส่วนใหญ่จำกัดการใช้อยู่ในทางการแพทย์ที่สามารถบริหารขยะติดเชื้อได้ง่าย แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้หน้ากากอนามัยถูกใช้จำนวนมากและกลายเป็นขยะติดเชื้อในภาคครัวเรือนมากขึ้น

“ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำหนังสือแจ้งมายังกลุ่มพลาสติกส.อ.ท.ให้ช่วยดูแลในเรื่องนี้ด้วยเพราะหน้ากากอนามัยเริ่มมีการหลุดรอดลงไปยังแหล่งน้ำที่เริ่มกระทบต่อสัตว์น้ำแล้ว เราเองเคยหารือกันในเรื่องนี้มาแล้วช่วงโควิดระบาดใหม่ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อ จึงเร่งเพื่อให้ได้ข้อสรุปเร็วสุดเพราะคิดว่าหน้ากากอนามัยจะอยู่คู่กับเราไปอีกนาน ส่วนหนึ่งต้องรอวัคซีน และอีกส่วนคนก็จะคุ้นชินกับการใช้หน้ากากอนามัยมากขึ้น เหมือนต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่นเมื่อเป็นหวัดก็จะใส่หน้ากากป้องกันการแพร่ระบาด” นายอภิภพกล่าว

ทั้งนี้ จากการหารือกับหลายภาคส่วน เบื้องต้นหน้ากากอนามัยที่ใช้ทางการแพทย์จะนำไปรวมไว้ในถุงแดงแล้วทิ้งในถังขยะติดเชื้อแยกไปกำจัดโดยผ่านโรงเผาขยะ แต่จากการที่หน้ากากอนามัยขณะนี้มีจำนวนมากในภาคครัวเรือนทำให้ประชาชนบางส่วนที่รับผิดชอบจะใช้วิธีใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงไปทิ้งในถุงดำกับขยะทั่วไป แต่บางส่วนก็ทิ้งรวมไปกับขยะอื่นๆ เลยทำให้เกิดปัญหาการคัดแยกและนำมาซึ่งการหลุดรอดในการนำไปเผาอย่างถูกวิธี ดังนั้นจึงมีแนวคิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการผลิตถุงแดงจำหน่ายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไปซึ่งก็อาจจะแก้ไขได้ระดับหนึ่ง

นอกจากนี้ยังได้พิจารณาว่าหากมีการแยกเป็นถุงแดงหรือถุงปกติที่มีการแยกทิ้งหน้ากากอนามัยไว้เสร็จแล้วจะนำไปทิ้งหรือมีจุดที่จะทิ้ง (Drop) ที่ใดเพื่อให้กระบวนการขนย้ายไปสู่โรงเผาขยะได้อย่างแท้จริง เพราะหากนำถังแดงไปตั้งตามถนนหมู่บ้านทิ้งไว้อาจเปิดช่องให้มิจฉาฉีพนำหน้ากากอนามัยไปซักล้างแล้วมาจำหน่ายต่อได้เช่นที่เคยเป็นข่าวมาแล้ว ดังนั้น จากการหารือหากจะตั้งถังแดงไว้รองรับขยะติดเชื้อจำเป็นต้องเป็นจุดที่มีคนดูแล ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุป

“ผมคิดว่าการจัดการขยะก็คงต้องปรับให้เป็น New Normal เพราะหน้ากากอนามัยคงจะมีการใช้ต่อเนื่อง ซึ่งหากมีการแยกชัดเจนต่อไปถังที่จะเก็บขยะติดเชื้อก็ไม่ต้องจำกัดเฉพาะหน้ากากอนามัยสามารถทิ้งขยะติดเชื้ออื่นๆ เช่น เข็มฉีดยาได้ด้วย“ นายอภิภพกล่าว

อย่างไรก็ตาม จากการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ส่งผลให้การใช้พลาสติกมีปริมาณเพิ่มขึ้นทั้งกล่องโฟม ถุงพลาสติก แก้วพลาสติก ช้อนพลาสติก ฯลฯ เนื่องจากคนทำงานอยู่บ้าน (WFH) มากขึ้นโดยเฉพาะคนเมืองทำให้เกิดการสั่งอาหารกลับมาทานบ้านจำนวนมาก ประกอบกับพลาสติกเหล่านี้ตอบโจทย์การอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิต โดยกลุ่มฯ เองได้ยืนยันเสมอว่าปัญหาขยะพลาสติกไม่ใช่ผู้ร้ายเพราะหากกำจัดอย่างถูกวิธีประโยชน์มีมากกว่าแต่ที่เป็นปัญหาเพราะขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง ซึ่งขยะจำนวนมากสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ (รีไซเคิล) โดยเฉพาะกล่องโฟม บรรจุอาหาร

“ไทยเราได้เริ่มแบนพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งภายในปี 2565 สำหรับพลาสติก 4 ประเภท คือ ถุงพลาสติกหูหิ้ว ความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร แก้วพลาสติกบาง หลอดพลาสติก ผมเห็นว่าโฟมไม่ควรแบนนะเพราะมันรีไซเคิลได้แต่วิธีการเก็บด้วยความเบาระยะแรกไม่คุ้มรัฐควรมีกลไกอุดหนุนเหมือนญี่ปุ่น เหมือนกับขวด PET ที่วันนี้เราก็ประสบความสำเร็จที่นำมารีไซเคิลแล้ว” นายอภิภพกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น