xs
xsm
sm
md
lg

อิมแพ็คแจง “โรงพยาบาลสนามบุษราคัม” บริหารจัดการ 5 ด้าน ชุมชนโดยรอบปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อธิบายการบริหารจัดการควบคุมการแพร่เชื้อโรค โรงพยาบาลสนามบุษราคัม 5 ด้าน กำหนด 500 เมตร พื้นที่เฝ้าระวัง ระบบกรองอากาศชั้นเยี่ยม จัดการน้ำเสีย สิ่งปฏิกูล แบบเดียวกับฮอสพิเทล ขยะติดเชื้อ อบจ.นนทบุรีจัดการ และผู้ป่วยไม่มีการวอล์กอิน ส่งต่อจากโรงพยาบาลมาทางช่อง Loading เท่านั้น ไม่อนุญาตออกนอกพื้นที่จนกว่าจะหาย ย้ำบุคลากรและชุมชนโดยรอบปลอดภัย

วันนี้ (15 พ.ค.) จากกรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลสนามภายในอาคารชาลเลนเจอร์ 3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง หรือผู้ป่วยสีเหลือง ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่มีจำนวนมากให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ลดความรุนแรง ลดการเสียชีวิต และช่วยให้โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครมีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักได้อย่างเต็มที่ ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ที่ผู้ป่วยทุกคนต้องเข้าถึงการรักษา จะไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยไว้ที่บ้าน โดยได้เปิดเฟสแรก 1,092 เตียง และหากมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นสามารถขยายพื้นที่ได้อีก 2 อาคาร รองรับได้ประมาณ 5,000 ราย ซึ่งได้เปิดเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊ก "IMPACT Arena, Exhibition and Convention Center" ของศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ได้โพสต์ข้อความอธิบายการบริหารจัดการควบคุมการแพร่เชื้อโรค ก่อนการเปิดบริการของโรงพยาบาลสนามบุษราคัม ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนยังกังวล ด้วยความไม่รู้ ไม่เข้าใจ จึงชี้แจงเรื่องการควบคุมเชื้อโรค โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค หน่วยงานสาธารณสุขผู้ร่วมกำกับดูแลจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบุษราคัม เพื่อสร้างความอุ่นใจมาเรียนรู้และทำความเข้าใจที่ถูกต้องไปพร้อมๆ กัน โดยการบริหารจัดการควบคุมโรคจาก 5 ปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

1. อากาศ รัศมีพื้นที่ 500 เมตร จากอาคารชาลเลนเจอร์ จะเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง Drop let หรือละอองฝอยที่อาจปะปนไปในอากาศ ซึ่งทางการแพทย์ระบุว่าการติดเชื้อจะเกิดขึ้นภายในระยะไม่เกิน 6 ฟุต อีกทั้งอุณหภูมิที่สูงและแสงแดดร้อนจัดจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้

มีการติดตั้งอุโมงค์ที่มี HEPA FILTER ซึ่งเป็นระบบกรองอากาศ เช่นเดียวกับที่ใช้ในห้องผ่าตัดให้กับเตียงผู้ป่วยทุกเตียงก่อนจะปล่อยอากาศเข้าสู่ระบบบำบัดอากาศส่วนกลางซึ่งมีการกรองเชื้อโรคอีกครั้ง ก่อนระบายอากาศสู่ภายนอก ซึ่งการกรอง 2 ชั้นทำให้อากาศที่ระบายออกไปมีความปลอดภัย


2. น้ำเสีย สิ่งปฏิกูล

- ห้องน้ำใช้ห้องน้ำของอาคาร มีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคตามมาตรฐาน

- ห้องอาบน้ำโดยบริษัทแสนสิริ จะติดตั้งบริเวณ Loading ชั้น 2 ด้านหลังฮอลล์

- น้ำเสียและสิ่งปฏิกูลจะถูกฆ่าเชื้อโรคก่อนเข้าสู่ระบบบำบัด โดยการเติมคลอรีนในบ่อพักก่อนส่งต่อไปบ่อผึ่งของระบบบำบัดน้ำเสีย โดยทีมวิศวกรและกรมอนามัยได้ลงพื้นที่สำรวจระบบบำบัดน้ำเสียแล้ว โดยใช้หลักการเช่นเดียวกับการทำ Hospitel ของโรงแรม ซึ่งจะมีการตรวจวัดความเข้มข้นของคลอรีนทุกวันให้มีความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 0.5 ppm เพื่อฆ่าเชื้อโรค

3. ขยะติดเชื้อ การจัดการขยะติดเชื้อ รถเก็บขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีจะเก็บขยะโดยวิธีการยกถัง และนำถังขยะใบใหม่มาเปลี่ยน จะไม่นำถุงขยะออกจากถัง เส้นทางการขนย้ายขยะอยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยมีแนวโน้มว่าจะใช้การขึ้นลงทางด่วนและขนไปยังเตาเผาขยะติดเชื้อโดยเฉพาะ

4. เจ้าหน้าที่ ทีมแพทย์และพยาบาลจะระดมกำลังมาเพื่อดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ มีการปฏิบัติงานตามมาตรการที่รัดกุม จำกัดพื้นที่เฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อโรคจากการปฏิบัติงาน


5. ผู้ป่วย ที่เดินทางมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม จะเป็นผู้ป่วยที่มีการส่งตัวมาจากโรงพยาบาลหรือศูนย์โควิดเท่านั้น ไม่มีการรับผู้ป่วย Walk in เส้นทางการรับส่งผู้ป่วยจะใช้ทางด่วนเท่านั้น โดยใช้ Loading ชั้น 2 ด้านหลังฮอลล์เป็นจุดรับส่งผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยอยู่ภายในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น

ไม่อนุญาตให้ออกนอกพื้นที่จนกว่าจะหาย กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นจะส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยใช้เส้นทางด่วนไปยังโรงพยาบาลที่รักษาในเขตใกล้เคียงบริเวณพระราม 6



สำหรับโรงพยาบาลสนามบุษราคัม อาคารชาลเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีพื้นที่รวมกว่า 100,000 ตารางเมตร รองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง หรือผู้ป่วยที่มีอาการ แต่อาการไม่รุนแรง จำนวน 5,200 เตียง เพื่อลดภาระของโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงให้มากขึ้น ลดอัตราการตายของผู้ป่วย นอกจากต้องดูแลผู้ป่วยแล้ว โรงพยาบาลสนามยังต้องดูแลให้บุคลากรที่ปฏิบัติงานและชุมชนโดยรอบให้มีความปลอดภัยทั้งหมด




























กำลังโหลดความคิดเห็น