xs
xsm
sm
md
lg

โรงพยาบาล “บุษราคัม” อัญมณีจาก “กระทรวงสาธารณสุข” กู้วิกฤติโควิด “กรุงเทพ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรุงเทพมหานครต้องเผชิญกับปัญหายอดผู้ติดเชื้อโควิด 19 รายวัน ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการบริหารจัดการในโรงพยาบาลทั่วกรุงเทพ และปริมณฑล

เมื่อตามแผนการรักษา ระบุชัดเจนว่าผู้ป่วยโควิด 19 ต้องได้รับการรักษาอย่างน้อย 14 วัน ส่งผลให้เกิดภาวะจำนวนที่ผู้ป่วยเข้ามาในระบบ ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยที่นำออก

กลายเป็นงานหนักของบุคลากรทางการแพทย์ และจากสถติทั่วโลก ชัดเจนว่า ในผู้ป่วย 100 คน จะมีผู้ป่วยอาการหนักถึง 5-10% เมื่อมีผู้ป่วยเข้ามาวันละ 1500-2000 คน ย่อมจะมีผู้ป่วยที่เข้าสู่อาการโคม่าประมาณ 100-200 คน

สถานการณ์ผ่านไปหลายวัน ตัวเลขยิ่งทวีคูณความต้องการเครื่องช่วยหายใจยิ่งสูงขึ้นเป็นงานหินของ “กรุงเทพมหานคร”ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก ต้องเร่งจัดการสถานการณ์

สำหรับกระทรวงสาธาณสุขนั้น ติดตามการแพร่ระบาดในพื้นที่เมืองหลวงอย่างใกล้ชิด ในฐานะหน่วยงานหลักที่ต้องดูแลสุขภาพพี่น้องคนไทย ซึ่งที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้เข้าไปช่วยเหลือ กรุงเทพฯในหลายเรื่อง เช่นล่าสุด คือการเปิดศูนย์แรกรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิด 19 ที่อาคารนิมิบุตร เพื่อเป็นหน่วยงานประสานรับผู้ป่วยโควิด มารักษาเฉพาะหน้า ก่อนบริการส่งต่อให้โรงพยาบาลดูแลตามแผนมาวันนี้ เมื่อทราบว่ากรุงเทพ กำลังเผชิญปัญหาเรื่องระบบโรงพยาบาลทั่วไป กำลังได้รับผลกระทบจากยอดผู้ป่วยโควิด 19 ที่เพิ่มสูง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารทุกท่าน จึงช่วยกันคิด ช่วยกันหาแนวทาง เพื่อผ่อนคลายปัญหา กลายเป็นการลงมือทำ ใช้เวลา 7 วัน เปลี่ยนความว่างเปล่า ในอาคารชาเลนเจอร์ IMPACT AREANA เมืองทองธานี ให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 5,000 เตียง ที่เพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการแพทย์

ภายใต้ชื่อ “โรงพยาบาลบุษราคัม” ที่จะให้บริการในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 เพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย ถึงปานกลาง เปิดพื้นที่ให้โรงพยาบาลทั่วกรุงเทพ ได้รักษาผู้ป่วยอาการหนักอย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดความสูญเสียจากสถานการณ์โรคระบาด

นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวว่า ทางรัฐบาล โดยท่านรองนายกฯ มีนโยบายในการดูแลสุขภาพคนไทย ทันทีที่ทราบปัญหา ก็ต้องหาทางแก้ งานนี้ ทุกหน่วยงานในกระทรวงฯ ช่วยกันอย่างเต็มที่ การจัดเตรียมสถานที่ มาจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งประเมินร่วมกันแล้วว่าที่นี่ ห่างไกลจากพื้นที่ชุมชน และมีระบบอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมด้านการสาธาณสุข

ต้องขอบคุณกรมอนามัย ที่เข้าไปในเรื่องของการจัดการเรื่องสุขภิบาล การดูแลบำบัดน้ำเสีย และเรื่องการจัดการด้านสุขอนามัยต่างๆ ด้วย เพราะเราคำนึงถึงการควบคุมโรคเป็นสำคัญ การดำเนินการต้องปลอดภัยและรัดกุม ในขณะที่แผนการรักษาดูแลผู้ป่วย ได้กรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ ผลึกกำลังจัดการ มี องค์การเภสัชกรรม คอยสนับสนุนเรื่องยา โดยเฉพาะยาฟาวิพิราเวียร์ มีกรมสุขภาพจิต คอยดูแลเรื่องสภาพจิตใจ เช่นกันกับกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนงาน

“มันต้องขอบคุณทุกกรมกองที่เข้ามาช่วยกัน นี่คือพลังของกระทรวงสาธารณสุข ที่เนรมิตรสิ่งต่างๆ จาก 0 สู่ 100 ภายในระยะเวลาที่จำกัด ตอนรับทราบโปรเจ็กค์จากฝ่ายผู้บริหาร เราไม่เคยคิดว่าทำไม่ได้นะ ตอนนั้น มันต้องมองไปข้างหน้าแล้ว มาถึงวันนี้ มันทำได้ และต้องขอบคุณทีมแพทย์ และทีมสาธารณสุข จากทั่วประเทศที่จะผลัดเปลี่ยนมาประจำทำงานในโรงพยาบาลด้วย คือ เราไม่สามารถใช้หมอในกรุงเทพมหานครได้ทั้งหมด เพราะหมอหลายท่าน ก็กำลังรักษาผู้ป่วยอยู่ จะไปดึงมาไม่ได้ งานนี้ ถ้าคน สธ.ไม่รวมพลังกัน ก็สำเร็จยาก”

นพ.กิตติศักดิ์ เปิดเผยอีกว่า จุดประสงค์ของการตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม มีด้วยกัน 3 อย่างคือ 1.รับผู้ป่วยโควิด 19 ที่อาการดีขึ้น จากโรงพยาบาลทั่วกรุงเทพ มารักษาที่นี่

2. คนไข้ใหม่ ที่อาการปานกลาง ให้ส่งมาที่นี่ 3.รับผู้ป่วยใหม่ อาการเล็กน้อย ที่รอเตียง ให้มาพักรักษาที่นี่ก่อนประสาน เข้าสู่พื้นที่รักษาต่อไป โดยหลักการณ์แล้ว โรงพยาบาลบุษราคัม รักษาผู้ป่วยอาการปานกลาง หรือเกณฑ์ “สีเหลือง” เป็นหลัก

ดังนั้นอุปกรณ์ ต้องพร้อม ที่นี่ เราจะมีท่อช่วยหายใจ พร้อมให้บริการ คิดเป็นจำนวน ¼ ของจำนวนผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม ต้องประเมินว่าศักยภาพในการรักษาของโรงพยาบาลมีแค่ไหน เพราะในอีกทางหนึ่ง ก็ได้ประสานกับโรงพยาบาลใหญ่ไว้เช่นกัน การจัดการรักษา ใช้ระบบ “เทเลเมดิซีน” เป็นหลัก ภายใต้การดูแลอย่างละเอียดโดยแพทย์ ที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด มีแม่ข่ายการบริหารจัดการทั้งหมด อยู่ที่โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

สำหรับโรงพยาบาล “บุษราคัม” มีเตียง ณ ปัจจุบันมากกว่า 1 พันเตียง พร้อมขยายได้สุดขีดความสามารถที่ 5 พันเตียง ในการดูแลของแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ ที่บูรณาการมาจากทั่วประเทศ ซึ่งเตรียมพร้อมไว้สูงสุดที่กว่า 700 คน พร้อมด้วยอุปกรณ์ด้านการแพทย์ ทั้ง รถเอ็กซเรย์ เครื่องช่วยหายใจกว่า 100 เครื่อง ห้องตรวจปฏิบัติการ ยาสำคัญ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างครบครัน

โรงพยาบาลแห่งนี้ เกิดขึ้นมาด้วยความคิด และจิตวิญญาณ ของชาวกระทรวงสาธาณสุข ที่เดินหน้าแก้ปัญหาโรคระบาด อย่างสุดกำลังความสามารถ โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล และเอกชนหลายภาคส่วน ที่พร้อมเป็นส่วนหนึ่งกับทีมสาธารณสุขไทย ผนึกกำลังคลี่คลายวิกฤติโควิด -19










กำลังโหลดความคิดเห็น