xs
xsm
sm
md
lg

ศบค.เผยผู้ป่วยหนักมีอัตราครองเตียงสูง “กทม.-ปริมณฑล” ต้องการเตียงไอซียู 25 เตียงต่อวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศบค.เผยผู้ป่วยหนักมีอัตราครองเตียงสูง “กทม.- ปริมณฑล” ต้องการเตียงไอซียู 25 เตียงต่อวัน จ่อเปิด “รพ.บุษราคัม” อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี รับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง

วันนี้ (8 พ.ค.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า วันเดียวกันนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพูดคุยในเรื่องการบริหารจัดการเตียง ซึ่งพอมีผู้ติดเชื้อแล้วจะนำเข้าไปสู่สถานที่รักษาอย่างเหมาะสม และการระบาดละลอกนี้กลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ยังเป็นห่วงในเรื่องอัตราการครองเตียง ในส่วนของตัวเลขผู้ติดเชื้อยืนยัน 14,351 ราย ในกรุงเทพฯและปริมณฑล แบ่งเป็น ผู้ติดเชื้อสีเขียวอ่อนมีอาการเล็กน้อย 6,459 ราย สีเขียวเข้ม ไม่มีอาการ 5,372 ราย สีเหลือง อาการปานกลาง 1,950 ราย และสีแดง อาการหนัก 570 ราย โดยการระบาดละลอกนี้กลุ่มผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วง คือ มีการครองเตียงในระดับสีเหลืองและสีแดง ยกตัวอย่างเช่น ในวันที่ 6 พ.ค.ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯ 739 ราย อัตราครองเตียงอยู่ที่ 14.2 วัน ในจำนวนนี้ 3.4 เปอร์เซ็นต์ เป็นผู้ที่มีอาการหนัก ปอดอักเสบ และในจำนวนนี้ 1.6 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยอาการหนักจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หมายความว่า ผู้ป่วย 100 คน 4 คนจะมีอาการหนัก 1-2 คน ต้องการเครื่องช่วยหายใจ ฉะนั้น ตัวเลข 739 ราย ในวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการคำนวณว่ากรุงเทพฯและปริมณฑลมีความต้องการไอซียู 25 เตียงต่อวัน

พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จะมีการเปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ที่อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ในสัปดาห์นี้ เพื่อรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสีเขียวเข้ม ที่ไม่มีอาการแต่มีปัจจัยเสี่ยงและโรคประจำตัว ทั้งจาก กทม.และปริมณฑล โดยจะแตกต่างจากโรงพยาบาลสนามทั่วไป เพราะต้องมีอุปกรณ์และมีการบริหารเรื่องออกซิเจนไฮโฟว์ หากผู้ป่วยต้องการการรักษาที่มีความละเอียดมากขึ้น จะต้องมีผู้ช่วยพยาบาลช่วยพลิกตัวผู้ป่วย จึงต้องระดมบุคลากรเข้าไปดูแล เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กยังได้พูดคุยเรื่องชุมชนแออัดที่มีประชาชนอยู่กันแออัด เราพบว่าในบางชุมชนประชาชนอยู่หนาแน่นและมีการใช้ห้องน้ำรวมกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ควบคู่กันที่จะต้องติดตาม คือ ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ โดยมีการจัดสถานที่พักคอยในชุมชน ซึ่งส่วนหนึ่งจะเป็นโรงเรียนและพื้นที่วัด ก่อนจะนำไปเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือในโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลตามระดับอาการความรุนแรง โดยอัตราการรอเตียงปัจจุบันจัดการได้เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยจะรอประมาณ 1-2 วัน ทำให้ไม่มีผู้ตกค้างแล้ว เนื่องจากพบว่า 60 ราย มีการปฏิเสธเตียง จึงขอให้ผู้ป่วยอย่าปฏิเสธเตียงและการรักษา

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอแนะจากคณะที่ปรึกษาด้านการสาธารณสุขในศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน โควิด-19 โดยมีข้อสรุป3 ข้อ คือ 1. ให้ทุกหน่วยงานทั้งกรุงเทพฯทั้งภาครัฐและเอกชนบูรณาการระบบสารสนเทศเดียวกัน เพื่อแบ่งปันข้อมูลให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง 2. เร่งรัดการดำเนินการคัดกรองเชิงรุกโดยขยายและใช้ศักยภาพของทุกหน่วยงานทั้งในกรุงเทพฯทั้งภาคสาธารณสุข และมหาวิทยาลัย และ 3. ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์เตียงสำหรับผู้ป่วย โควิด-19 โดยสำนักการแพทย์กรมการแพทย์ได้ขยายเตียงสำหรับผู้ป่วย โควิด-19 ให้เพียงพอกับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตสีแดงและสีเหลือง ส่วนการตรวจคัดกรองเชิงรุกได้ขอให้กรุงเทพฯ และปริมณฑล เร่งระดมการตรวจจากเดิมแผนตรวจ 26,850 ราย ให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ ทางคณะที่ปรึกษาศจึงขอให้เพิ่มกำลังดึงหน่วยงาน รวมทั้งบุคลากรจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชนและอาสาสมัครให้สามารถตรวจคัดกรองเชิงรุก 20,000 กว่าราย ให้แล้วเสร็จภายใน 2 วัน และมีการพูดถึงเรื่องการเตรียมเตียงปรากฏในกรุงเทพฯและปริมณฑล ในส่วนการติดเชื้อ 1,000 กว่าราย จะต้องเตรียมให้ได้ไม่ต่ำกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ รวมแล้วในแต่ละสัปดาห์จะมีการวางแผนเตียงล่วงหน้าคิดจาก 5 เปอร์เซ็นต์ของยอดผู้ติดเชื้อ










กำลังโหลดความคิดเห็น