กระทรวงสาธารณสุข จับมือกรุงเทพมหานคร ทำแผนดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ทุกเขต เร่งคัดกรองเชิงรุกใน 15 ชุมชน ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก พร้อมเตรียมเปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ขนาด 3,000 เตียง รับผู้ป่วยสีเหลือง
วันนี้ (5 พ.ค.) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว ในประเด็นการควบคุมโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. โดย นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยินดีให้การช่วยเหลือสนับสนุนการบริหารจัดการโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. โดยในด้านการบริหารจัดการเตียง/การส่งต่อผู้ป่วยได้มอบหมายให้กรมการแพทย์ได้เข้าไปสนับสนุน รวมทั้งเปิดศูนย์แรก-ส่งต่อ นิมิตรบุตรรองรับผู้ติดเชื้อตกค้างตามบ้าน และล่าสุดเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลบุษราคัม ขนาด 3,500 เตียง รองรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเหลืองที่เจ็บป่วยเล็กน้อยถึงปานกลาง จาก กทม. โดยใช้สถานที่ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ระดมบุคลากร แพทย์ พยาบาล จาก 60 จังหวัดที่พบการแพร่ระบาดน้อยหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่
ด้าน นพ.สุนทร สุนทรชาติ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า การบริหารจัดการในพื้นที่ กทม. ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด และดูแลผู้ติดเชื้อ โดยจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์ฯมีผู้อำนวยการเขตเป็นผู้บัญชาการในทุกเขตของ กทม. ซึ่งใน กทม. มีชุมชน กว่า 2,000 แห่ง และมี 15 ชุมชน ที่มีการติดเชื้อค่อนข้างมาก เช่น ชุมชนคลองเตย ชุมชนสะพานขาว ได้ส่งทีมเชิงรุกเข้าไปตรวจคัดกรอง โดยที่คลองเตยตรวจทุกวันวันละ 1,500-2,000 ราย เมื่อพบผู้ติดเชื้อจะนำรายชื่อเข้าระบบการส่งต่อศูนย์เอราวัณ 1669 และทำการเคลื่อนย้ายผู้ติดเชื้อไปยังโรงพยาบาล ,โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ตามระดับอาการ โดยในพื้นที่เขตที่มีการระบาดมากจะมีศูนย์พักรอคอยการส่งต่อนำผู้ติดเชื้อในชุมชนมาเตรียมพร้อมก่อนนำส่งโรงพยาบาล
สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะได้รับการดูแลให้กักกันตัวเองที่บ้าน มีชุมชนและการสนับสนุนภาคประชาสังคมเข้าไปดูแลเพื่อลดการแพร่เชื้อ มีการช่วยเหลือเรื่องอาหารสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต ส่วนการฉีดวัคซีนในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดจำนวนมาก เช่น ชุมชนคลองเตยเริ่มดำเนินการไปแล้วทั้งห้างสรรพสินค้า และโรงเรียนต่างๆ