รองโฆษกรัฐ เผย สาธารณสุข รายงาน ครม.ตั้งโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี ช่วยลดความแออัดโรงพยาบาล สำหรับรักษาผู้ป่วยอาการหนัก
วันนี้ (5 พ.ค.) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้รายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบการดำเนินการตั้งโรงพยาบาลสนามที่อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยจะให้เป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเหลือง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการ แต่อาการไม่รุนแรงและเหนื่อยหอบ หายใจเร็ว จากเดิมผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาลเช่นเดียวกับผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ซึ่งเป็นกลุ่มมีอาการรุนแรง คือมีอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก ปอดอักเสบรุนแรง มีภาวะปอดบวม
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ประเมินแล้วว่าการตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองนี้จะช่วยลดภาระของโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลลง เพื่อให้ส่วนของโรงพยาบาลมีพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีแดงที่มีอาการหนักได้มากขึ้น
ส่วนของพื้นที่รองรับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีผลยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก ตาแดง ผื่นขึ้น ซึ่งใช้โรงพยาบาลสนามทั่วไป และ Hospitel อยู่นั้น เวลานี้มีพื้นที่เพียงพอ ยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดหาพื้นที่เพิ่ม
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้อมูลโรงพยาบาลสนาม ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี จากที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้ลงพื้นที่เพื่อวางแผนนั้น ที่นี่จะรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 5,200 เตียง โดยใช้พื้นที่อาคาร 1 และ 2 อาคารละ 2,000 เตียง ส่วนอาคาร 3 เตรียมพร้อมสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการ ภายในจะตั้งเต็นท์ความดันลบ มีเครื่องช่วยหายใจ สามารถรองรับได้ 1,200 เตียง
ทั้งนี้ หลังจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้าไปจัดการในพื้นที่ ทั้งระบบระบายอากาศ ระบบระบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกล้องวงจรปิด ให้ได้ตามมาตรฐานและร่วมกับภาคเอกชนอื่นๆ ติดตั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตต่อไป
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขยังได้รายงานเกี่ยวกับการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ขณะนี้ขั้นตอนการรักษาได้เริ่มมีการให้ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการในระยะเริ่มต้นด้วย เพื่อเป็นการหยุดยั้งการอักเสบของปอด และยืนยันว่า ขณะนี้ปริมาณยามีเพียงพอ จากที่ได้มีการนำเข้ามามา 2 ล้านเม็ด ในช่วงปลายเดือน เม.ย. ซึ่งมีการกระจายไปยังโรงพยาบาลทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชนแล้ว 1 ล้านเม็ด อยู่ในคลังกลาง 1 ล้านเม็ด อยู่ระหว่างการสั่งซื้ออีก 3 ล้านเม็ด จะเข้ามาในประเทศภายในเดือน พ.ค.นี้ และองค์การเภสัชกรรมยังมีแผนการผลิตยาชนิดนี้เองในประเทศด้วย