กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ โรงพยาบาลบุษราคัม เมืองทองธานี วางแนวทาง การจัดการมูลฝอยติดเชื้อและมูลฝอยทั่วไป เตรียมความพร้อมก่อนเปิดให้บริการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมเน้นย้ำโรงพยาบาลสนามทุกแห่งในแต่ละพื้นที่คุมเข้มอนามัยสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน คือ มูลฝอยติดเชื้อ การจัดการสิ่งปฏิกูล และการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำเสีย
วันนี้ (12 พ.ค.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลให้จัดตั้ง โรงพยาบาลบุษราคัม ณ อาคารชาเลนเจอร์ เมืองทองธานี ขึ้น เพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะผู้ป่วยสีเหลืองให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว จะช่วยลดอาการรุนแรง และช่วยลดการเสียชีวิตได้และเป็นการช่วยให้โรงพยาบาลในเขตกรุงเทพมหานครมีเตียงรองรับผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดงได้อย่างเต็มที่ โดยจะเปิดให้บริการในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นี้ ซึ่งที่ผ่านมากรมอนามัยได้ส่งทีมนักวิชาการลงพื้นที่บริหารจัดการมูลฝอยติดเชื้อและมูลฝอยทั่วไปโดยกำหนดจุดทิ้งขยะติดเชื้อทั้งโซนสีแดงและสีเขียวพร้อมติดป้ายสัญลักษณ์ จำนวน 16 จุด ให้เห็นชัดเจน จัดหาภาชนะรองรับขยะเพิ่มเติมจำนวน 165 ถัง เฝ้าระวังคุณภาพน้ำเสีย กำหนดจุดตรวจสอบคุณภาพน้ำทิ้ง ตรวจคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำเสีย และสนับสนุนชุดทดสอบคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำ (อ.31) จำนวน 3 ชุด พร้อมสาธิตการใช้ ชุดทดสอบ ตลอดจนประสานขอความอนุเคราะห์จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี เพื่อทำการสูบสิ่งปฏิกูลก่อนเปิดให้บริการโรงพยาบาลสนาม และนำไปบำบัดอย่างถูกวิธี โดยกำหนดให้สูบสิ่งปฏิกูลเป็นระยะตามความเหมาะสม
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรงพยาบาลสนามในแต่ละพื้นที่ขอให้ยึดแนวทางปฏิบัติการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม 3 ด้าน ดังนี้ 1) ด้านการจัดการมูลฝอยติดเชื้อ ผู้ปฏิบัติงานสวมชุดป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม จัดให้มีภาชนะบรรจุและภาชนะรองรับมูลฝอยติดเชื้อในห้องผู้ป่วย มีการเก็บขยะมูลฝอยตามเวลานัดหมาย โดยใช้รถเข็นในการเก็บรวบรวมและเคลื่อนย้ายตามเส้นทางที่กำหนดและเมื่อเสร็จภารกิจแล้วให้ถอดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลออก หากเป็นชนิดใส่ครั้งเดียวให้ทิ้งลงในถังมูลฝอยติดเชื้อ หากนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ให้แช่ลงใน 5,000 ppm sodium hypochlorite นาน 30 นาทีจากนั้นล้างแล้วนำไปผึ่งแดด 2) การกำจัดน้ำเสีย ผู้ปฏิบัติงานสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ปฏิบัติงานและหลีกเลี่ยงการสัมผัสละอองฝอยจากระบบบำบัด น้ำเสีย ตรวจสอบและควบคุมระบบบำบัดน้ำเสีย และระบบฆ่าเชื้อโรคให้ทำงานอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง หากใช้คลอรีนต้องมีการวัดปริมาณ Residual Chlorine เหลือไม่น้อยกว่า 1 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยมีระยะสัมผัสไม่ต่ำกว่า 30 นาที พร้อมตรวจวัดปริมาณคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำทิ้งทุกวัน วันละ 1 ครั้ง และให้มีการส่งตรวจคุณภาพน้ำทิ้ง อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน โดยให้ตรวจพารามิเตอร์มาตรฐานน้ำทิ้งจากโรงพยาบาลตามกฎหมาย และหลังการปฏิบัติงานให้ทำ ความสะอาดและใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกครั้ง
3) ด้านการจัดการส้วมและสิ่งปฏิกูล ให้ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม ด้วยน้ำยาทำความสะอาดทั่วไป ทิ้งไว้ อย่างน้อย 10 นาที เน้นเช็ดบริเวณที่รองนั่งโถส้วม ฝาปิดโถส้วม ที่กดชักโครก ราวจับลูกบิด กลอนประตู ด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวที่เตรียมไว้หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5 เปอร์เซ็นต์ และต้องสวมถุงมือยาง รองเท้ายาง ผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดจมูก เพื่อป้องกันเชื้อโรคหรือสารเคมีที่ใช้ในการทำความสะอาด ส่วนการเตรียมน้ำยาทำความสะอาด เลือกใช้ผลิตฆ่าเชื้อที่มีส่วนผสมของโซเดียมไฮโปคลอไรท์ และให้เก็บขยะทุกวัน โดยปิดปากถุงให้มิดชิดแล้วนำไปกำจัดแบบมูลฝอยติดเชื้อให้ถูกต้องต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด