xs
xsm
sm
md
lg

2 นวัตกรรมเจ๋ง!! ไอวีแอลประกาศรางวัลชนะเลิศ รีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ – ถุงเพาะพันธุ์พืชจากขยะพลาสติก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ไอวีแอล จับมือ องค์กรระดับนานาชาติ เฟ้นไอเดียจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ มุ่งแก้ปัญหาขยะอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศผล “โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Innovation Challenge) ได้ผู้ชนะ 2 ทีม ‘RECYSO’ และ ‘จากขยะสู่ขยะ’ รับเงินรางวัลรวม 2 แสนบาท พร้อมโอกาสพัฒนาผลงาน

บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ ไอวีแอล ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และดำเนินธุรกิจรีไซเคิลชั้นนำระดับโลก จัดโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน” (Circular Innovation Challenge) ร่วมกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) ศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (SEAMEO Regional Centre for Sufficiency Economy Philosophy for Sustainability) และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อมุ่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจพอเพียง


โครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อปัญหาขยะในประเทศไทย โดยเปิดโอกาสให้นวัตกรรุ่นใหม่พัฒนาทักษะสำหรับการคิดค้นโซลูชั่นเพื่อแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยโครงการนี้มีผู้ลงทะเบียนรวม 174 ทีม และส่งผลงานเข้าร่วมประกวดรวม 108 โครงการ มีทีมที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้ายจำนวน 10 ทีม ซึ่งได้เข้าพูดคุยและรับข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญเพื่อปรับแต่งและพัฒนาไอเดียให้พร้อมก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการผู้ตัดสินจากองค์กรนานาชาติ โดยเกณฑ์การตัดสินพิจารณาจากคุณสมบัติของนวัตกรรม ซึ่งได้แก่ ความสามารถในการสร้างผลกระทบต่อสังคมในมุมกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ ความเป็นไปได้ในการนำไอเดียไปปฏิบัติจริง และความเป็นเอกลักษณ์ของนวัตกรรม เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ รางวัลชนะเลิศ ประเภทนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้แก่ ทีม ‘RECYSO’ ซึ่งนำเสนอนวัตกรรมการแยกและรีไซเคิลส่วนประกอบของแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อ สำหรับรางวัลชนะเลิศ ประเภทนวัตกรรมเพื่อการจัดการน้ำ และสุขาภิบาล ได้แก่ ทีม ’จากขยะสู่ขยะ’ ซึ่งนำเสนอการรีไซเคิลถุงพลาสติกใช้งานแล้ว นำไปผลิตถุงเพาะพันธุ์พืชสำหรับเกษตรกร

นายยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส
นายยาช โลเฮีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืน อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าวว่า “เราขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ทีม และรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งส่งเสริมให้นักนวัตกรรมรุ่นใหม่นำแนวคิดของพวกเขามาใช้ในชีวิตจริง สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของไอวีแอลในการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน อันเป็นแนวทางที่ทำให้ผลิตภัณฑ์อย่างขวดที่ทำจาก PET ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจโดยส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เราเชื่อว่านักนวัตกรรมรุ่นใหม่เหล่านี้คืออนาคตของเราที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน และส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในเชิงบวก และเราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาของพวกเขา”

สุกิจ อุทินทุ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ (บนซ้าย) อภิญญา สิระนาท Head of Exploration, UNDP Accelerator Labs (บนขวา) Evariste Kouassi Komlan, Regional Water, Sanitation and Hygiene Advisor องค์การยูนิเซฟ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก (ล่างซ้าย) พีท ซิลเวสเตอร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ล่างขวา)
Evariste Kouassi Komlan, Regional Water, Sanitation and Hygiene Advisor องค์การยูนิเซฟ สำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก กล่าวว่า “เด็กทุกคนควรได้รับสิทธิ์ในการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัย การเข้าถึงน้ำสะอาด ห้องน้ำที่เหมาะสม และหลักปฏิบัติที่ถูกสุขอนามัยจะช่วยให้เด็กๆ เติบโตอย่างมีความสุขและสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น เราต้องการสนับสนุนนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการน้ำและสุขาภิบาลสำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดค้นโดยคนรุ่นใหม่ เป็นการเสริมสร้างให้คนรุ่นใหม่สามารถจัดการปัญหาเกี่ยวกับน้ำและสุขาภิบาล และร่วมกันสร้างโลกที่เด็กๆ เข้าถึงน้ำสะอาดได้อย่างทั่วถึง”

สุกิจ อุทินทุ ผู้อำนวยการศูนย์ระดับภูมิภาคว่าด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อความยั่งยืนของซีมีโอ กล่าวว่า “ถือว่า SEAMEO บรรลุเป้าหมายสำคัญในการเชื่อมโยงและผนึกความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในการถ่ายทอดหลักการและคุณค่าของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และประยุกต์ใช้ในการทำงานผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเวิร์คช้อปในโครงการครั้งนี้ นอกจากนี้ เราจะพัฒนาและขยายองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันนี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในระดับภูมิภาคและเป็นสากลมากยิ่งขึ้น”

พีท ซิลเวสเตอร์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า “พวกเรายินดีอย่างมากที่ได้เห็นนวัตกรรุ่นใหม่กว่า 400 คน มาเข้าร่วมเวิร์คช้อปกับเรา ถึงแม้จะยังอยู่ในช่วงโควิด-19 ก็ตาม ซึ่งเราก็ได้ปรับการประกวดเป็นรูปแบบออนไลน์เช่นกัน เราได้ทำการศึกษาวิจัยที่วิทยาลัยโลกคดีศึกษาและพบว่า การสร้างกระบวนการให้คำปรึกษา การพัฒนาขีดความสามารถแก่นวัตกร และการสร้างเครือข่ายร่วมกับพันธมิตร ช่วยส่งเสริมกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมสังคมที่เข้มแข็งขึ้นได้อย่างเห็นได้ชัด การสร้างเวทีให้แก่นวัตกรรุ่นใหม่ได้มีโอกาสนำเสนอนวัตกรรมทำให้เราเห็นศักยภาพที่น่าทึ่งของเยาวชนไทย พลังและความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาได้สร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ที่โดดเด่น เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมซึ่งสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงในอนาคต”

อภิญญา สิระนาท Head of Exploration, UNDP Accelerator Labs กล่าวว่า “UNDP เชื่อในพลังของเยาวชนในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) และนั่นทำให้เรามีความยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อถ่ายทอดแนวทางให้คนรุ่นใหม่สามารถนำความรู้ความสามารถและความเป็นผู้นำมาใช้ในการสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ที่ช่วยแก้ปัญหาการจัดการขยะ การจัดการน้ำ และสุขาภิบาล ซึ่งในการสนับสนุนคนรุ่นใหม่นั้น เราต้องลงทุนเพื่อเยาวชนและร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาทุกคนรู้สึกได้รับการผลักดันและแรงบันดาลใจ เพื่อให้ตระหนักถึงศักยภาพที่เต็มเปี่ยมและคว้าโอกาสที่ดีสำหรับพวกเขา”

ผู้ที่สนใจสามารถรับชมวิดีโอเวิร์คช้อป และการนำเสนอผลงานในโครงการประกวดนวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียน ได้ที่ https://www.facebook.com/tucircularinnovation/