ปลัดกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม กทม. เพิ่มเติม เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ ซึ่งมีอาคารโรงยิมฯ จำนวน 4 อาคาร สามารถจัดแยกเป็นพื้นที่ของผู้ป่วยชาย-หญิง ได้อย่างชัดเจน โดยจะเป็นของผู้ป่วยชาย 2 อาคาร และผู้ป่วยหญิง 2 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 400 เตียง ซึ่งขณะนี้อยู่ปรับปรุงภายในอาคาร คาดว่า โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 5 พ.ค. 64
วันนี้ (27 เม.ย.) นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามกทม. เพิ่มเติม เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค กรุงเทพมหานครจึงเตรียมจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 1 แห่ง ณ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ ซึ่งมีอาคารโรงยิมฯ จำนวน 4 อาคาร สามารถจัดแยกเป็นพื้นที่ของผู้ป่วยชาย-หญิง ได้อย่างชัดเจน โดยจะเป็นของผู้ป่วยชาย 2 อาคาร และผู้ป่วยหญิง 2 อาคาร สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 400 เตียง ซึ่งขณะนี้อยู่ปรับปรุงภายในอาคาร งานปูพื้น งานปรับปรุงห้องสำหรับการปฏิบัติงานของทีมแพทย์ งานปรับปรุงห้องน้ำ และงานวางระบบไฟฟ้าเพื่อติดตั้งพัดลมระบายอากาศ สำหรับงานปรับปรุงบริเวณภายนอกอาคาร อยู่ระหว่างการจัดทำพื้นและขุดวางระบบติดตั้งถังบำบัดสำหรับห้องน้ำโรงพยาบาลสนาม งานโครงสร้างที่พักขยะ และปรับปรุงพื้นที่โดยรอบอาคาร การทดสอบระบบกล้อง cctv งานปรับปรุงระบบสุขาภิบาลภายในอาคาร งานระบบไฟฟ้าของแต่ละเตียงสำหรับผู้ป่วยที่เข้ามาพักรักษาหรือสังเกตอาการ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมด้านระบบอื่นๆ อาทิ ระบบสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม ระบบการกำจัดขยะ การจัดการน้ำเสีย ระบบการซักล้างให้ปลอดเชื้อ รวมถึงด้านการจัดการดูแลผู้ป่วย อาทิ ระบบการลงทะเบียน การสื่อสารทำความเข้าใจ และระบบรักษาความปลอดภัย
ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการนำส่งตัวผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ จะใช้หลักการเดียวกับโรงพยาบาลสนาม กทม. แห่งอื่นๆ โดยจะรับเฉพาะผู้ป่วยโควิดเขียวหรือติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ โดยมอบหมายโรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ เป็นผู้บริหารจัดการการดูแลผู้ป่วย คาดว่า โรงพยาบาลสนามแห่งนี้จะเปิดให้บริการได้ในวันที่ 5 พ.ค. 64 ซึ่ง กทม. ได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์จากหน่วยงาน โดยเฉพาะบริษัท SCG ที่สนับสนุนเตียงกระดาษและมุ้ง จำนวน 400 ชุด รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่จะสนับสนุน หมอน ที่นอน และอุปกรณ์อื่นๆ ทั้งนี้ กทม. พยายามดำเนินการให้สถานที่แห่งนี้สมบูรณ์ที่สุดเพื่อเป็นที่รองรับสำหรับกักตัวผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ต้องแยกจากครอบครัว คนรอบข้าง เพื่อไม่ให้มีการแพร่กระจายของเชื้อออกไป