นันยางปรับแผนรับมือเลื่อนเปิดเทอมลดเสี่ยงโควิด-19
หนุนยอดขายไตรมาสแรก 64 เป็นไปตามเป้า
ส่งข้อความกระตุกสังคม “บูลลี่ในโรงเรียน หยุดได้ด้วยนักเรียน” เผยโฉมรุ่นพิเศษ “นันยาง รุ่นใหญ่ ANTI-BULLY edition”
นายจักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 กว่า 1 ปีที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของระบบเศรษฐกิจของโลกไม่เพียงแค่เฉพาะในประเทศไทย ดังนั้น การปรับตัวตามสถานการณ์ของภาคธุรกิจอย่างถูกช่วงถูกจังหวะ จึงเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้องค์กรสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนก็เช่นกัน ต้องอาศัยการปรับตัวในทุกขั้นตอนเพื่อให้ภาพรวมธุรกิจยังไปต่อได้อย่างมีเสถียรภาพ แม้จะมีการเลื่อนเปิดภาคเรียน หรือยังคงจัดรูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ก็ตาม
นันยางได้เห็นและเรียนรู้ถึงผลกระทบดังกล่าว และนำมาปรับแผนธุรกิจให้สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบ โดยเริ่มตั้งแต่มาตรการป้องกันโควิดของบุคลากร การวางแผนการจัดเตรียมวัตถุดิบให้สอดคล้องกับการผลิตสินค้า และให้สอดคล้องกับการขายสินค้าในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป การจัดสรรสินค้าในแต่ละช่องทางขายอย่างเหมาะสม “การนำเสนอนวัตกรรมสินค้าใหม่ที่ตอบโจทย์สถานการณ์อย่าง ‘Nanyang Have Fun’ สำหรับเด็กประถมแถมฟรีเชือกยืดหยุ่นทำให้ไม่ต้องผูกเชือก ลดการสัมผัสเชื้อโรค สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับรองเท้านักเรียนประถม ถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการปรับสินค้าให้เหมาะต่อความต้องการ ณ เวลานั้นของผู้บริโภค ตลาดให้การตอบรับเป็นอย่างดี ส่งผลให้ยังคงทำยอดขายได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้” นายจักรพล จันทวิมล สรุปให้เห็นภาพรวมการปรับตัวของนันยางเพื่อรับมือวิกฤตโควิด-19
ในฐานะผู้นำตลาดรองเท้าผ้าใบนักเรียนของเมืองไทย นันยาง ยังคงตอกย้ำให้เห็นถึงการเป็นส่วนหนึ่งของโลกวัยเรียน ด้วยการนำ customer insight ที่ได้มาสร้างสรรค์เป็นแคมเปญพิเศษ “บูลลี่ในโรงเรียน หยุดได้ด้วยนักเรียน” เพื่อหยุดปัญหาการกลั่นแกล้งที่เกิดขึ้นในโรงเรียน “เมื่อโควิดคลี่คลายลง นักเรียนจะเริ่มกลับไปเรียนที่โรงเรียน แต่เหตุการณ์รุนแรงจากการแกล้งกันในโรงเรียนยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้ผู้ถูกระทบเป็นโรคซึมเศร้าจนถึงฆ่าตัวตาย โดยประเทศไทยมีการบูลลี่ในโรงเรียนสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก” นายจักรพล กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน “การกลั่นแกล้ง (bully) ในโรงเรียนมีมานานแล้ว ซึ่งสังคมอาจมองว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ได้ส่งผลกับความรู้สึกของทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ สร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจไปตลอดชีวิต โดยนันยางพบว่าการ Bully ในโรงเรียนได้ทวีความรุนแรงขึ้น และถูกยกระดับให้กลายเป็นมาตรฐานพฤติกรรมปกติของนักเรียนบางส่วน สร้างการเลียนแบบ สรรหาวิธีกลั่นแกล้งใหม่ รวมถึงการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์”