สหภาพฯ การบินไทยยื่นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตรวจสอบ “ชาญศิลป์” ใช้อำนาจมิชอบด้วย กม.และไม่เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง เปิดหนังสือ “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค” ยันหลัง 28 ม.ค. 64 ไม่ได้มอบอำนาจบริหารหรือให้สั่งการลำพัง
รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 17 พ.ค. 2564 สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท.สพ.) มี นายศิริพงส์ ศุกระกาญจนาโชค เป็นประธาน ได้ยื่นหนังสือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้รับผิดชอบการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อขอตรวจสอบการใช้อำนาจของนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ในการแต่งตั้ง โยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับบริหาร และการออกประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางและพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่
โดยระบุว่า ตามที่นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร หนึ่งในผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำหน้าที่รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (DD) ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร ออกคำสั่งบริษัทฯ แต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหาร ดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร จัดทำโครงการที่เกี่ยวกับการปรับลดจำนวนพนักงาน และดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพการอ้างสวัสดิการ และสิทธิประโยชน์ของพนักงาน รวมทั้งออกประกาศให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่ โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 (Relaunch ครั้งที่ 1-3) ซึ่งเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2564 สหภาพแรงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ได้มีหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หนึ่งในผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย เพื่อขอทราบอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหาร และการออกคำสั่ง ระเบียบของนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ต่อมาวันที่ 11 พ.ค. 2564 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ตอบข้อหารือดังกล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว อำนาจในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของผู้บริหารบริษัทลูกหนี้ รวมทั้งบรรดาสิทธิตามกฎหมายของผู้ถือหุ้นทั้งหมดจะระงับลงและตกมาอยู่กับผู้ทำแผน นับแต่วันที่ศาลล้มละลายมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ทำแผนทันที และกรณีนี้มีการแต่งตั้งผู้ทำแผน 7 คน การบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของการบินไทยจะต้องเป็นไปตามมติเอกฉันท์ของคณะผู้ทำแผน มิใช่มติเสียงข้างมาก และเดิมนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิกาค รวมทั้งคณะผู้ทำแผนมีมติเอกฉันท์มอบอำนาจการบริหารจัดการกิจการประจำตามปกติทั่วไปให้นายชาญศิลป์เป็นผู้มีอำนาจดังกล่าวเพียงผู้เดียว แต่ไม่เกี่ยวกับกิการฟื้นฟูกิจการ ทำให้นายชาญศิลป์มีอำนาจจัดการกิจการประจำวันตามปกติทั่วไปได้แต่ผู้เดียวตลอดมา ซึ่งรวมทั้งอำนาจในการปรับโครงสร้างองค์กรและการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหาร และการออกประกาศต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการประจำวันตามปกติทั่วไปด้วย
แต่เนื่องจากนายพีระพันธ์ุได้รับการร้องเรียนจากพนักงานเป็นจำนวนมากในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานระดับบริหารที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นธรรม อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจของนายชาญศิลป์ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะผู้ทำแผน เป็นเหตุให้นายพีระพันธุ์บอกเลิกการมอบอำนาจบริหารจัดการกิจการประจำวันตามปกติทั่วไปในส่วนของตนไปยังนายชาญศิลป์เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2564 ทำให้นายชาญศิลป์หมดอำนาจบริหารจัดการกิจการประจำวันตามปกติทั่วไปตามลำพังเพียงคนเดียวทันที
และต่อมาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 นายพีระพันธุ์ได้มอบอำนาจบริหารจัดการกิจการประจำวันตามปกติทั่วไปให้นายชาญศิลป์อีกครั้ง โดยมีเงื่อนไขว่าการมอบอำนาจครั้งนี้ไม่รวมถึงการแต่งตั้งและโยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับบริหาร ซึ่งนายพีระพันธุ์ยังได้ระบุอีกว่า เท่าที่จำได้ยังไม่เคยลงนามหรือให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับบริหารใดๆ เลย ดังนั้น หากมีการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับบริหาร ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 เป็นต้นมา ต้องพิจารณาว่ามีคำสั่งหรือการสั่งการดังกล่าวมีผลบังคับถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
เมื่อพิจารณาหนังสือตอบข้อหารือของนายพีระพันธุ์ หมายความว่า หากนายชาญศิลป์จะมีคำสั่งอันมีผลเป็นการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งพนักงานระดับผู้บริหารเมื่อใดแล้ว นายชาญศิลป์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ทำแผนทุกรายก่อนเป็นครั้งๆ ไป ไม่อาจสั่งการเองคนเดียว ดังนั้น การใช้อำนาจของนายชาญศิลป์ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. 2564 เป็นไปตามมติเอกฉันท์ของคณะผู้ทำแผนหรือไม่ และเป็นการดำเนินการ โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่อย่างไร
และเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2564 สหภาพแรงงานการบินไทยได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเพื่อขอให้วินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมายของนายชาญศิลป์ ว่าเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลางและพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือไม่ ซึ่งอธิบดีกรมสวัสดิการฯ ได้ตอบข้อหารือว่าเป็นกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมบังคับคดี ไม่ใช่การหารือเกี่ยวกับปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับแรงงาน และให้หารือประเด็นดังกล่าวไปยังกรมบังคับคดี