xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ติงแผนฟื้นฟู “การบินไทย” การตลาดไม่ชัด-“ชาญศิลป์” ยื่นแก้ไขการเงินตามเงื่อนไขเจ้าหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทอท.ติงแผนฟื้นฟูการบินไทยไม่ชัด ทั้งสร้างรายได้-ฝูงบิน-เครือข่ายเส้นทาง เสนอแก้ไข 3 ข้อ ยันไม่โหวตหากไม่แก้ไขตามคำขอ “ชาญศิลป์” เผย 7 พ.ค.ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ปรับการหาเม็ดเงินใหม่ ตามเงื่อนไขเจ้าหนี้ เดินหน้าโหวต 12 พ.ค.

รายงานข่าวจากบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.ที่มี นายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธานเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2564 ที่ประชุมได้มีมติรับทราบแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่ฝ่ายบริหาร ทอท.เสนอ โดยให้มีการปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย โดยให้ ทอท.มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุมเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือภายในวันที่ 8 พ.ค. 2564 เพื่อขอให้ปรับปรุงแผนฟื้นฟูฯ ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ให้กรอบและทิศทางในการติดตามแผนในการดำเนินธุรกิจ และระยะเวลาที่เหมาะสมในการชำระหนี้ให้แก่ ทอท.

ได้แก่ 1. การสร้างรายได้และการลดต้นทุนจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (flight Business) ซึ่งเห็นว่าแผนควรกำหนดจำนวนเครื่องบินและประเภทเครื่องบิน และเครือข่ายเส้นทางการบินที่มีความชัดเจน โดยใช้ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ (Hub) การวิเคราะห์และการจัดการตารางบิน (Slot) เพื่อปรับเครือข่ายเส้นทางบิน ความถี่ และจำนวนเที่ยวบิน และการทำแผนการตลาดที่สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันและแนวโน้มอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากร เช่น หลุมจอด หรือเคาน์เตอร์เช็กอิน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

2. การพัฒนาด้านธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน (Non-Flight Business) เห็นว่าแผนควรกำหนดระยะเวลาและขั้นตอนที่ต้องการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้แก่ กิจการครัวการบิน คลังสินค้า อุปกรณ์บริการภาคพื้นและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และการให้บริการด้านผู้โดยสาร (passenger Handing Service) และควรระบุระยะเวลา ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการเจรจาต่อรองสัญญาที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าของบริษัทฯ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู

3. พิจารณากำหนดต้นทุนการดำเนินงานด้านการบินภายใต้อัตราค่าภาระของแต่ละสนามบิน เช่น ค่าบริการในการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee) เป็นต้น ให้มีความเท่าเทียมกับสายการบินอื่นๆ โดยต้องเป็นไปตามหลักสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

4. ลดระยะเวลาปลอดหนี้ (Grace Period) ลง 1 ปี โดยแก้ไขเป็นชำระหนี้เป็นรายครึ่งปี โดยเริ่มรับชำระเงินต้นทุกๆ ครึ่งปี งวดละ 25% เริ่มชำระงวดแรกในครึ่งปีหลังของปีที่ 2 ของแผนฟื้นฟูฯ และได้รับชำระเงินต้นครบในครึ่งปีแรกของปีที่ 4 และค่าปรับจะได้รับ 100% ในครึ่งปีของปีที่ 4

โดยการปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูทั้ง 3 ข้อแรกถือเป็นสาระสำคัญในการดำเนินงานของการบินไทย หากไม่ได้รับการแก้ไขให้ชัดเจนจะส่งผลกระทบต่อการบริหารสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งทางอากาศในระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเจ้าหนี้เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูของการบินไทย ในวันที่ 12 พ.ค.นี้ กรณีมีการพิจารณาแก้ไขคำขอฟื้นฟูกิจการ หากแก้ไข 3 ข้อตามที่ ทอท.เสนอ หรือมีคำแก้ไขแผนที่ทำให้ ทอท.ได้ประโยชน์มากกว่าแผนเดิม จะลงมติ “ยอมรับการแก้ไขแผน”

หากมีเจ้าหนี้รายอื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนเสนอคำร้องขอแก้ไขแผนที่กระทบทำให้ ทอท.เสียประโยชน์ เช่น ทอท.ได้รับการชำระหนี้น้อยกว่าแผนเดิม จะลงมติ “ไม่ยอมรับ”

และเห็นด้วย หากมีคำร้องขอแก้ไขแผนจำนวนมาก และมีการเสนอให้เลื่อนการพิจารณา โดย ทอท.จะไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูฯ หากผู้ทำแผนไม่มีการแก้ไขตามที่ ทอท.มีคำร้อง

@“การบินไทย” ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูปรับเงื่อนไขการเงินใหม่

ด้าน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวในรายการ ‘เดินไปข้างหน้ากับ DD ชาญศิลป์’ ว่า สถานการณ์โควิดทำให้เครื่องบินที่มีเกือบ 100 ลำต้องจอดเป็นจำนวนมาก ซึ่ง 6-7 เดือนที่ผ่านมาได้ให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องเครื่องบิน เพราะสภาพธุรกิจการบินปัจจุบันสายการบินทั้งโลกมีหนี้สินเพิ่มขึ้นประมาณ 6 ล้านล้านบาท และขาดทุนเกือบ 3 ล้านล้านบาท การบินไทยก็หนีไม่พ้นที่ต้องขาดทุน ซึ่งรัฐบาลหลายๆ รัฐบาลก็ช่วยสนับสนุน แต่รัฐบาลไทยในวันนี้เงินทองในกระเป๋ามีไม่เยอะ การสนับสนุนอะไรจึงต้องระมัดระวัง ฉะนั้นสิ่งที่การบินไทยต้องทำตอนนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว ซึ่งเราต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุด คือต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ที่สอดรับกับอนาคต

ซึ่งได้ทำแผนมากว่า 6 เดือนและได้ยื่นแผนฯ ไปเมื่อวันที่ 2 มี.ค. และจะมีการยื่นที่กรมบังคับคดีเพื่อปรับแก้ไขแผนอีกนิดหน่อย วันที่ 7 พ.ค.โดยหลักใหญ่ๆ คือ การปรับปรุงเรื่องเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาใหม่ และเงื่อนไขต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นผลจากการที่ได้หารือกับเจ้าหนี้ และกับภาครัฐ เนื่องจากแต่ละเจ้าหนี้มีกฎระเบียบ มีเงื่อนไข มีมุมมองแตกต่างกัน ประเด็นสำคัญคือเจ้าหนี้ต้องการให้การบินไทยเดินไปข้างหน้า และเจริญเติบโตได้

“เวลานี้การบินไทยคงปรับปรุงเรื่องรายได้ไม่ได้มากนักเพราะความต้องการเดินทางไม่มี จึงต้องคุมเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่ที่ทำคือการดูแลเจรจาค่าเช่าเครื่องบิน เป็นการจ่ายตามที่ใช้งานจริง และทำสัญญาใหม่ ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลง 40-60% มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้สอดรับกับกลยุทธ์ในอนาคตเพราะข้างหน้าเราไม่สามารถบินได้เยอะๆ แล้ว โดยในช่วงแรกๆ เราอาจบินด้วยเครื่อง 40-50 ลำ และในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้าอาจจะเพิ่มเป็น 70-80 ลำ”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการบินไทยจะได้รับการดูแลจากรัฐบาล เพราะการบินไทยสร้างประโยชน์ให้ประเทศทั้งในแง่การจ้างงาน เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว


กำลังโหลดความคิดเห็น