xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ติงแผนการตลาด"บินไทย"ไม่ชัด เล็งแก้แผนการเงินตามเงื่อนไขเจ้าหนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ทอท.ติงแผนฟื้นฟูการบินไทยไม่ชัด ทั้งเรื่องสร้างรายได้- ฝูงบิน-เครือข่ายเส้นทางบิน เสนอแก้ไข 3 ข้อ ยันไม่โหวตหากไม่แก้ไขตามคำขอ "ชาญศิลป์" เผย 7 พ.ค. ยื่นขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ปรับการหาเม็ดเงินใหม่ ตามเงื่อนไขเจ้าหนี้

รายงานข่าวจาก บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่าในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ที่มี นายสราวุธ เบญจกุล เป็นประธานเมื่อวันที่ 26 เม.ย.64 ที่ประชุมได้มีมติรับทราบแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่ฝ่ายบริหาร ทอท.เสนอ โดยให้มีการปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย โดยให้ทอท. มีหนังสือแจ้งไปยังเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก่อนวันประชุมเจ้าหนี้ไม่น้อยกว่า 3 วัน หรือภายในวันที่ 8 พ.ค.64 เพื่อขอให้ปรับปรุงแผนฟื้นฟูฯ ให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ให้กรอบและทิศทางในการติดตามแผนในการดำเนินธุรกิจ และระยะเวลาที่เหมาะสมในการชำระหนี้ให้แก่ทอท. ได้แก่

1. การสร้างรายได้และการลดต้นทุนจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน (flight Business)ซึ่งเห็นว่าแผนควรกำหนดจำนวนเครื่องบิน ประเภทเครื่องบิน และเครือข่ายเส้นทางการบินที่มีความชัดเจน โดยใช้ความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางอากาศ การวิเคราะห์และการจัดการตารางบิน (Slot)เพื่อปรับเครือข่ายเส้นทางบิน ความถี่ และจำนวนเที่ยวบิน และการทำแผนการตลาดที่สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันและแนวโน้มอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการทรัพยากร เช่น หลุมจอด หรือเคาน์เตอร์เช็กอิน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

2. การพัฒนาด้านธุรกิที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน(Non-Flight Business)เห็นว่า แผนควรกำหนดระยะเวลาและขั้นตอนที่ต้องการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้แก่ กิจการครัวการบิน คลังสินค้า อุปกรณ์บริการภาคพื้น และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการซ่อมบำรุง บริการซ่อมบำรุงอากาศยาน และการให้บริการด้านผู้โดยสาร และควรระบุระยะเวลา ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการเจรจาต่อรองสัญญาที่เกี่ยวข้องกับคู่ค้าของบริษัทฯ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู

3. พิจารณากำหนดต้นทุนการดำเนินงานด้านการบินภายใต้อัตราค่าภาระของแต่ละสนามบิน เช่น ค่าบริการในการขึ้นลงอากาศยาน (Landing Fee) และค่าบริการที่เก็บอากาศยาน (Parking Fee)เป็นต้น ให้มีความเท่าเทียมกับสายการบินอื่นๆ โดยต้องเป็นไปตามหลักสากลขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

4. ลดระยะเวลาปลอดหนี้ ลง1 ปี โดยแก้ไขเป็นชำระหนี้เป็นรายครึ่งปี โดยเริ่มรับชำระเงินต้นทุกๆ ครึ่งปี งวดละ 25% โดยเริ่มชำระงวดแรกในครึ่งปีหลังของปีที่ 2 ของแผนฟื้นฟูฯ และได้รับชำระเงินต้นครบในครึ่งปีแรกของปีที่ 4 และค่าปรับจะได้รับ100% ในครึ่งปีของปีที่ 4

โดยการปรับแก้ไขแผนฟื้นฟูทั้ง 3 ข้อแรก ถือเป็นสาระสำคัญในการดำเนินงานของการบินไทย หากไม่ได้รับการแก้ไขให้ชัดเจน จะส่งผลกระทบต่อการบริหารสนามบินที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทอท. และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจด้านการขนส่งทางอากาศในระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมเจ้าหนี้ เพื่อโหวตแผนฟื้นฟูของการบินไทยในวันที่ 12 พ.ค.นี้ กรณีมีการพิจารณาแก้ไขคำขอฟื้นฟูกิจการ หากแก้ไข 3 ข้อ ตามที่ทอท.เสนอ หรือมีคำแก้ไขแผนที่ทำให้ทอท.ได้ประโยชน์มากกว่าแผนเดิม จะลงมติ "ยอมรับการแก้ไขแผน"

หากมีเจ้าหนี้รายอื่น ลูกหนี้ หรือผู้ทำแผนเสนอคำร้องขอแก้ไขแผนที่กระทบทำให้ ทอท.เสียประโยชน์ เช่น ทอท.ได้รับการชำระหนี้น้อยกว่าแผนเดิม จะลงมติ"ไม่ยอมรับ"

และเห็นด้วย หากมีคำร้องขอแก้ไขแผนจำนวนมาก และมีการเสนอให้เลื่อนการพิจารณา โดยทอท. จะไม่ยอมรับแผนฟื้นฟูฯ หากผู้ทำแผนไม่มีการแก้ไขตามที่ทอท.มีคำร้อง

ยื่นแก้ไขแผนฟื้นฟูปรับเงื่อนไขการเงิน

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย กล่าวในรายการ "เดินไปข้างหน้ากับ DDชาญศิลป์" ว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้เครื่องบินที่มีเกือบ100 ลำ ต้องจอดเป็นจำนวนมาก ซึ่ง 6-7 เดือนที่ผ่านมาได้ให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมทำงานเพื่อพิจารณาเรื่องเครื่องบิน เพราะสภาพธุรกิจการบินปัจจุบันสายการบินทั้งโลก มีหนี้สินเพิ่มขึ้นประมาณ 6 ล้านล้านบาท และขาดทุนเกือบ 3 ล้านล้านบาท การบินไทย ก็หนีไม่พ้นที่ต้องขาดทุน ซึ่งรัฐบาลหลายๆรัฐบาลก็ช่วยสนับสนุน แต่รัฐบาลไทยในวันนี้ เงินในกระเป๋ามีไม่เยอะ การสนับสนุนอะไรจึงต้องระมัดระวัง ฉะนั้นสิ่งที่การบินไทยต้องทำ ตอนนี้จึงเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วซึ่งเราต้องช่วยตัวเองให้มากที่สุดคือ ต้องทำแผนฟื้นฟูกิจการฯ ที่สอดรับกับอนาคต

ซึ่งได้ทำแผนมากว่า 6 เดือน และได้ยื่นแผนฯไปเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา และจะมีการยื่นที่กรมบังคับคดี เพื่อปรับแก้ไขแผนอีกนิดหน่อย วันที่ 7 พ.ค. โดยหลักใหญ่ๆ คือ การปรับปรุงเรื่องเม็ดเงินใหม่ที่เข้ามาใหม่ และเงื่อนไขต่างๆ ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นผลจากการที่ได้หารือกับเจ้าหนี้ และกับภาครัฐ เนื่องจากแต่ละเจ้าหนี้มีกฎระเบียบ มีเงื่อนไข มีมุมมองแตกต่างกัน ประเด็นสำคัญคือเจ้าหนี้ต้องการให้การบินไทยเดินไปข้างหน้า และเจริญเติบโตได้

"เวลานี้ การบินไทย คงปรับปรุงเรื่องรายได้ไม่ได้มากนัก เพราะความต้อการเดินทางไม่มี จึงต้องคุมเรื่องค่าใช้จ่ายซึ่งส่วนใหญ่ที่ทำคือ การดูแลเจรจาค่าเช่าเครื่องบิน เป็นการจ่ายตามที่ใช้งานจริง และทำสัญญาใหม่ ทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่าย ลดลง 40-60% มีการปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้สอดรับกับกลยุทธ์ในอนาคต เพราะข้างหน้าเราไม่สามารถบินได้เยอะๆ แล้ว โดยในช่วงแรกๆ เราอาจบินด้วยเครื่อง 40-50 ลำ และในอนาคตอีก 3-5 ปีข้างหน้า อาจจะเพิ่มเป็น 70-80 ลำ"

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการบินไทยจะได้รับการดูแลจากรัฐบาลเพราะการบินไทยสร้างประโยชน์ให้ประเทศทั้งในแง่การจ้างงาน เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว


กำลังโหลดความคิดเห็น