นำร่องความเร็ว 120 กม./ชม.ราบรื่น ไร้ร้องเรียน ”ศักดิ์สยาม”สั่ง ทล.-ทช.เร่งปรับปรุงป้าย เครื่องหมายจราจร ปีนี้ขยายอีก 12 สาย ปูพรม นครราชสีมา ปทุมธานี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นครสวรรค์ อ่างทอง แผนถึงปี 71 ประกาศอีก 47 สายทาง ส่วนราชพฤกษ์,นครอินทร์ ใช้ต้นปี 65
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามนโยบายกำหนดความเร็ว 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วันที่ 14 พ.ค. 2564 ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) ด้วยระบบ Zoom Cloud Meetings ว่า ภายหลังจากที่กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินและทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้ และได้มีประกาศผู้อำนวยการ ทางหลวงแผ่นดิน กำหนดให้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน-พยุหคีรี (ช่วงอยุธยา-อ่างทอง) ระหว่าง กม.4+100 ถึง กม. 50+000 เป็นเส้นทางที่ใช้ความเร็วได้ตามกฎกระทรวง ซึ่งรถยนต์ส่วนบุคคลสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 เป็นต้นมานั้น พบว่าสามารถดำเนินการเป็นไปได้ด้วยดี และยังไม่ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่สะดวกในการใช้เส้นทางในช่วงดังกล่าว
จึงได้มอบหมายให้ ทล.และ ทช.พิจารณาเส้นทางที่จะสามารถขยายผลการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น โดยมีแผนการดำเนินงาน ภายในปี 2564 จำนวน 12 สายทาง โดยเป็นถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง (ทล.) และใช้งบประมาณของ ทล.ดำเนินการ จำนวน 6 สายทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงป้ายและเครื่องหมายจราจร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2564 ได้แก่
1.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 ช่วงบ่อทอง - มอจะบก จังหวัดนครราชสีมา ระยะทาง 13.5 กิโลเมตร.
2.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงสนามกีฬาธูปะเตมีย์ - ต่างระดับคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 10.0 กิโลเมตร
3.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ช่วงคลองหลวงแพ่ง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยะทาง 11.0 กิโลเมตร
4.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 ช่วงบางนา - ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จังหวัดสมุทรปราการ ระยะทาง 15.0 กิโลเมตร
5.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงทางน้ำหนองแขม – บ้านหว้า - วังไผ่ จังหวัดนครสวรค์ ระยะทาง 25.72 กิโลเมตร
6.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงอ่างทอง – ไชโย – สิงห์ใต้ – สิงห์เหนือ - โพนางดำออก จังหวัดอ่างทอง - สิงห์บุรี ระยะทาง 63.0 กิโลเมตร
สายทางที่ใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) ดำเนินการจำนวน 6 สายทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุงกำแพงกั้น ติดตั้งป้าย เครื่องหมายจราจรและระบบ ITS คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2564 ได้แก่
1.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง - สระพระ ช่วงที่ 1 จังหวัดเพชรบุรี ระยะทาง 6.9 กิโลเมตร
2. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ช่วงเขาวัง - สระพระ ช่วงที่ 2 จังหวัดเพชรบุรี ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร
3. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 9 ช่วงบางแค - คลองมหาสวัสกดิ์ กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 9.8 กิโลเมตร
4. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 ช่วงนาโคก - แพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงคราม ระยะทาง 24.6 กิโลเมตร
5.ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 347 ช่วงเทคโนโลยีปทุมธานี - ต่างระดับเชียงรากน้อย จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 10.0 กิโลเมตร
6. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงหนองแค - สวนพฤษศาสตร์พุแค จังหวัดสระบุรี ระยะทาง 26.0 กิโลเมตร
สายทางที่จะดำเนินการในระยะถัดไปโดยใช้งบเหลือจ่ายประจำปี 2565 จำนวน 2 สายทาง ได้แก่
1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงต่างระดับคลองหลวง-ประตูน้ำพระอินทร์ จังหวัดปทุมธานี ระยะทาง 6.82 กิโลเมตร
2. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 ช่วงประตูน้ำพระอินทร์ - หนองแค จังหวัดอยุธยา ระยะทาง 27.18 กิโลเมตร
และสายทางที่จะดำเนินการในปี 2565 – 2571 อีกจำนวน 47 สายทาง โดยใช้เงินกู้จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)
เส้นทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 6 เส้นทาง ได้แก่
1.ถนนราชพฤกษ์ (นบ.3021) จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 25.2 กิโลเมตร
2.ถนนนครอินทร์ (นบ.1020) จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 12.4 กิโลเมตร
3.ถนนชัยพฤกษ์ (นบ.3030) จังหวัดนนทบุรี ระยะทาง 11.18 กิโลเมตร
4 .ถนนข้าวหลาม (ชบ.1073) จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 4.98 กิโลเมตร
5. ถนนบูรพาพัฒน์ บ้านฉาง (รย.1035) จังหวัดระยอง ระยะทาง 7.41 กิโลเมตร
6. ถนนสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี (ชม.3029) จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทาง 26.10 กิโลเมตร
โดย ถนนราชพฤกษ์ และถนนนครอินทร์ จะใช้เงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2565 และอีก 4 เส้นทางจะสามารถเปิดให้บริการได้ปลายปี 2565
นอกจากนี้ ไดให้ ทล.นำข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 ช่วงบางปะอิน-พยุหคีรี (ช่วงอยุธยา-อ่างทอง) ระหว่าง กม. 4+100 ถึง กม. 50+000 ซึ่งเป็นเส้นทาง นำร่องที่สามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ 120 กม./ชม. ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อที่จะนำมากำหนดมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุสำหรับ การดำเนินการในระยะต่อไป