xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงบปี 65 “คมนาคม” 2.11 แสนล้านถูกตัดกว่า 1.6 หมื่นล้าน ปรับแผนกู้ก่อสร้าง-PPP โครงการใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” ปรับแผนบริหารโครงการปี 65 หลังได้งบจำนวน 2.11 แสนล้านบาท ต่ำกว่าปี 64 ถึง 1.6 หมื่นล้าน และต่ำกว่าคำขอถึง 61.9% ส่วนทางหลวงยังได้มากสุด 1.15 แสนล้าน ขณะที่ รสก.เน้นลงทุน PPP โครงการใหญ่

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้รับความเห็นชอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 211,611.95 ล้านบาท หรือลดลง 61.91% จากที่เสนอคำขอกรอบวงเงินที่ 555,550.71 ล้านบาท (ลดลง 343,938.75 ล้านบาท) และลดลง 7.17% หรือ 16,282.54 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณปี 2564 ที่ได้รับจำนวน 227,894.49 ล้านบาท 

โดยงบประมาณจำนวน 211,611.95 ล้านบาท แบ่งเป็นส่วนราชการ 8 หน่วยงาน วงเงิน 175,858.71 ล้านบาท และหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ 5 หน่วยงาน วงเงิน 35,753.24 ล้านบาท ซึ่งการขนส่งทางบกได้รับจัดสรรงบประมาณสูงที่สุด จำนวน 169,288.05 ล้านบาท (80%) รองลงมาคือขนส่งทางราง จำนวน 31,550.96 ล้านบาท (14.91%) ขนส่งทางอากาศ จำนวน 5,353.51 ล้านบาท (2.53%) ขนส่งทางน้ำ จำนวน 4,590.39 ล้านบาท (2.17%) งานด้านนโยบาย จำนวน 829.05 ล้านบาท (0.39%)

ทั้งนี้ งบประมาณประจำปี 2565 แยกเป็น 8 หน่วยงานส่วนราชการ ประกอบด้วย 1. สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม จำนวน 553.14 ล้านบาท ลดลง 65.04 ล้านบาท หรือ 10.52% 2. กรมเจ้าท่า (จท.) จำนวน 4,590.38 ล้านบาท ลดลง 228.28 ล้านบาท หรือ 4.74% 3. กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จำนวน 3,464.20 ล้านบาท ลดลง 237.71 ล้านบาท หรือ 6.42% 4. กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จำนวน 5,194.23 ล้านบาท ลดลง 513.53 ล้านบาท หรือ 9% 

5. กรมทางหลวง (ทล.) จำนวน 115,422.04 ล้านบาท ลดลง 10,524.87 ล้านบาท หรือ 8.36% 6. กรมทางหลวงชนบท (ทช.) จำนวน 46,242.34 ล้านบาท ลดลง 2,547.49 ล้านบาท หรือ 5.22% 7. สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จำนวน 275.89 ล้านบาท ลดลง 20.89 ล้านบาท หรือ 8.20% และ 8. กรมการขนส่งทางราง (ขร.) วงเงิน 116.45 ล้านบาท ลดลง 3.29%

ส่วนรัฐวิสาหกิจ 5 แห่ง ประกอบด้วย 1. การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จำนวน 11.29 ล้านบาท ลดลง 75.97 ล้านบาท หรือ 87.06% 2. องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 4,148.16 ล้านบาท ลดลง 337.44 ล้านบาท หรือ 7.52% 3. สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) จำนวน 159.27 ล้านบาท ลดลง 157.5 ล้านบาท หรือ 49.72% 

4. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 18,383.49 ล้านบาท ลดลง 404 .62 ล้านบาท หรือ 2.25% 5. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จำนวน 13,051.01 ล้านบาท ลดลง 2,016.23 ล้านบาท หรือ 13.38%

อย่างไรก็ตาม โครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปของกระทรวงคมนาคม ระยะเวลาดำเนินการปี 2565-2567 และก่อนหน้านี้ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้วเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 จำนวน 27 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 48,620 ล้านบาท จะหารือกับกระทรวงการคลังในการจัดหาแหล่งเงินในการดำเนินโครงการที่เหมาะสมต่อไป  ขณะที่โครงการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่ จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนกับเอกชน (PPP) เพื่อไม่เป็นภาระงบประมาณ


กำลังโหลดความคิดเห็น