สหวิริยาสตีลฯ ชี้แนวโน้มราคาเหล็กจะสูงต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า เสนอรัฐพิจารณาโครงสร้างอุตฯ เหล็กทั้งระบบเพื่อวางแผนระยะยาวแทนที่การแก้ปัญหาราคาเหล็กแพงเฉพาะหน้า เผย 7 สมาคมผู้ประกอบการเหล็กจ่อหารือ ก.อุตสาหกรรมเสนอปรับปรุงแผนอุตฯ เหล็ก 4.0
นายวิน วิริยประไพกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือเอสเอสไอ เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงพาณิชย์จะหารือกับภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาผลกระทบราคาเหล็กที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นให้แก่ผู้ประกอบการก่อสร้างรายย่อย โดยจัดให้มีการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นตัวแทนผู้ใช้ กับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนฝั่งผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็ก เพื่อจะได้ประสานเชื่อมโยงการซื้อขายโดยตรง ลดการผ่านคนกลางทำให้ต้นทุนลดลงนั้นเป็นแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ได้ผล แต่อยากเรียกร้องภาครัฐพิจารณาโครงสร้างทั้งระบบเพื่อวางแผนระยะยาวในการกำหนดเป็นแผนแม่บท
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศมีปัญหากำลังการผลิตเกินความต้องการใช้ และมีห่วงโซ่อุปทานที่ไม่สมดุล โดยอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศส่วนใหญ่เป็นการผลิตเหล็กขั้นปลาย ไม่มีการลงทุนเหล็กขั้นต้นและขั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นโรงถลุงเหล็กหรือโรงงานผลิตเหล็กพรุน ประกอบกับเศษเหล็กในประเทศก็มีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าเศษเหล็กรวมทั้งเหล็กแท่งยาว (billet) เพื่อรีดเป็นเหล็กเส้น ดังนั้นราคาเหล็กในประเทศจึงอิงกับราคาตลาดโลก
ราคาเหล็กในตลาดโลกมีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากบราซิลและออสเตรเลียไม่สามารถขุดสินแร่เหล็กได้ตามแผนที่ตั้งเป้าหมายไว้ ประกอบกับจีนมีนโยบายลดกำลังการผลิต โดยปิดโรงงานผลิตเหล็กที่มีกระบวนการผลิตที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการยกเลิกมาตรการทางภาษีที่มีอยู่เดิมในการสนับสนุนการส่งออกสินค้าเหล็กบางรายการ เพื่อนำเหล็กที่ผลิตได้ไปใช้ขยายการก่อสร้างในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ มีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น ทำให้ราคาเศษเหล็กปัจจุบันอยู่ที่ 500 เหรียญสหรัฐต่อตันจากเดิม 300 เหรียญสหรัฐต่อตัน คาดว่าราคาเหล็กจะสูงขึ้นอย่างนี้ต่อเนื่องไปอีก 1-2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ 7 สมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กเตรียมหารือกระทรวงอุตสากรรมเพื่อขอปรับปรุงแผนนโยบายอุตสาหกรรมเหล็ก 4.0 ในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อสร้างความสมดุลในห่วงโซ่อุปทานเหล็ก ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่รองรับช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมเหล็กเหมือนกับอุตสาหกรรมอื่นที่ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ โดยปี 2563 บริษัทมีกำไรสุทธิ 200 ล้านบาท แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ก็ตาม
ปัจจุบันไทยมีความต้องการใช้เหล็กทุกประเภท 16.5 ล้านตัน แบ่งเป็นการนำเข้า 10.4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 63% และผลิตในประเทศ 6.1 ล้านตัน หรือคิดเป็น 37% โดยไทยมีการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กมากกว่าครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ราคาเหล็กในประเทศอิงราคาตลาดโลก