xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธงการใช้ก๊าซฯ ปีนี้ฟื้นใกล้เคียงปี 62 ‘ปตท.’ จ่อติดตั้งอีวี ชาร์จในปั๊ม NGV 10 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปตท.ฟันธงความต้องการใช้ก๊าซฯ ปีนี้ฟื้นตัวใกล้เคียงปี 62 อยู่ที่ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยไตรมาส 1 นี้การใช้ก๊าซฯ โตขึ้น 7-8% ส่วนการนำเข้า LNG ในปีนี้ยังมีปริมาณนำเข้าได้ราว 0.8-1 ล้านตัน เปิดโอกาส LNG Shipper นำเข้ามาได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้ “วุฒิกร” แย้มเตรียมติดตั้งอีวีชาร์จในปั๊ม NGV นำร่อง 10 แห่งในปีนี้ และเปิดร้านฮะรุมิกิ เฮ้าส์ สาขาแรกที่ ปตท.สำนักงานใหญ่

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2564 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับปี 2562 ที่ประมาณ 4,700-4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีการใช้ก๊าซฯ อยู่ที่ 4,300-4,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยในไตรมาส 1/2564 ความต้องการใช้ก๊าซฯ อยู่ที่ 4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้น7-8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนไตรมาส 2 นี้ยังต้องรอประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ว่าจะกระทบต่อการใช้ก๊าซเท่าใด โดยเชื่อว่าการใช้ก๊าซฯ เพื่อการผลิตไฟฟ้าและใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรมไม่ลดลง แต่ในส่วนภาคบริการและท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบบ้าง

ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปีนี้คาดว่าไทยต้องนำเข้าราว 6-6.5 ล้านตัน ซึ่งเป็นปริมาณการนำเข้าตามสัญญาระยะยาว 5.2 ล้านตัน ยังคงเหลือปริมาณการนำเข้า LNG อีก 0.8-1 ล้านตัน ซึ่งเป็นการเปิดทางให้ผู้นำเข้าอื่นๆ (Shipper) ตามแนวทางเปิดเสรีนำเข้าได้ แต่จะเป็นปริมาณที่ชัดเจนเท่าใดขึ้นอยู่กับคณะทำงานของกระทรวงพลังงานที่มีกรมเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ ปตท.ร่วมกันพิจารณา โดยคาดว่าจะนำเข้า LNG ได้ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ส่วนไตรมาส 4 อาจดำเนินการได้ยากเนื่องจากเป็นช่วงที่ต่างประเทศมีความต้องการใช้ก๊าซฯ สูง ซึ่งอาจส่งผลต่อราคา LNG ตลาดจร (Spot) ขณะที่ปัจจุบันราคา Spot ส่งมอบเดือน มิ.ย.นี้ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งสูงกว่าราคา LNG สัญญาระยะยาวของ ปตท.


อย่างไรก็ตาม ปตท.เตรียมเร่งตัดสินใจลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจก๊าซเพิ่มเติมในปีนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการลงทุนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศรับมือผลกระทบจากโควิด-19 ได้แก่ การก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ (แห่งที่ 7) เพื่อทดแทนโรงแยกก๊าซฯ แห่งที่ 1 ตามแผนคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2566-2567 ขณะที่อยู่ระหว่างกระบวนการจัดทำ EIA และโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 (Rev.1) มูลค่าประมาณ 11,000 ล้านบาท ตามแผนคาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 2568 คาดว่าการลงทุนทั้ง 2 โครงการจะสามารถตัดสินใจลงทุนได้ภายในปี 2564

ขณะที่โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างยังเป็นไปตามแผน ได้แก่ โครงการ LNG Terminal 2 (หนองแฟบ) รองรับก๊าซธรรมชาติเหลวมูลค่าประมาณ 38,500 ล้านบาท จะแล้วเสร็จตามแผนในปี 2565 และการก่อสร้างโครงการท่อส่งก๊าซเส้นที่ 5 มูลค่าประมาณ 17,207 ล้านบาท ขณะนี้ได้เริ่มทดสอบนำก๊าซฯ ส่งผ่านท่อฯ แล้ว


นายวุฒิกรกล่าวว่า ในปีนี้ ปตท.มีแผนจะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) หรือปั๊มชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ของ ปตท. เนื่องจากผู้ประกอบการรถแท็กซี่ได้เริ่มปรับเป็น EV Taxi โดยปีนี้วางเป้าหมายติดตั้ง 10 แห่งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล คาดว่าจะเริ่มดำเนินการที่สาขาแรกกำแพงเพชร 2 ในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยปัจจุบัน ปตท.มีปั๊ม NGV ทั่วประเทศประมาณ 300-400 แห่ง 


นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมเปิดร้านฮารุมิกิเฮาส์ (Harumiki House) สาขาแรกที่ ปตท.สำนักงานใหญ่ ซึ่งจะเป็นธุรกิจประเภทจัดจำหน่ายเครื่องดื่มและเบเกอรี โดยมีสินค้ายอดนิยมวางจำหน่าย เช่น สตรอว์เบอร์รีสด และผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น เครื่องดื่มเมนูสตรอว์เบอร์รีหลายหลาย ครีมทามือ แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เป็นต้น คาดว่าจะเปิดสาขาแรกในช่วงกลางปี 2564


กำลังโหลดความคิดเห็น