ปตท.สผ.ฟุ้งไตรมาส 2/64 ปริมาณการขายปิโตรเลียมแตะ 416,000 บาร์เรล/วัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขายอยู่ที่ 363,411 บาร์เรล/วัน เนื่องจากรับรู้ปริมาณขายจากแหล่งโอมาน บล็อก 61 เต็มไตรมาส
นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2/2564 บริษัทมีผลประกอบการดีกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากไตรมาส 2 ปีนี้บริษัทมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 416,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณการขาย 363,411 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เป็นผลจากรับรู้ปริมาณการขายจากแหล่งโอมาน บล็อก 61 เต็มไตรมาส ขณะที่ราคาก๊าซฯ ในไตรมาส 2/2564 ปรับลดลงเล็กน้อยอยู่ที่ 5.8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ปรับลดลงมาอยู่ที่ 27-28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ ปตท.สผ.คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2564 จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก หลังมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มมากขึ้นในสหรัฐฯ และยุโรป มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และแต่ละประเทศอาจผ่อนคลายมาตรการปิดประเทศลงและเปิดให้มีการบินระหว่างประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มสูงขึ้น
ขณะที่สถานการณ์ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในปีนี้ปริมาณการผลิตยังเกินความต้องการใช้ สืบเนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเสริม 26 ล้านตัน ทำให้ทั้งปีมีปริมาณการผลิต LNG รวม 391 ล้านตัน แต่ปริมาณความต้องการใช้ในตลาดโลกอยู่ที่ 377 ล้านตัน ส่งผลให้ราคา LNG ในไตรมาส 2-3 นี้ ปรับลดลงจากไตรมาสแรกที่เฉลี่ย 9.69 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูหลังพ้นฤดูหนาวและปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น คาดการณ์ในปี 2564 ราคา LNG เฉลี่ยอยู่ที่ 6.3-7.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู
นางสาวอรชรกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับหน่วยงานรัฐ และวางแผนมาตรการรองรับหากไม่สามารถผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในแหล่งเอราวัณ (G1) ภายหลังรับถ่ายโอนแหล่งเอราวัณในปี 2565 เนื่องจากปัจจุบันผู้รับสัมปทานเดิมยังไม่ให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่ในแหล่งเอราวัณเพื่อติดตั้งอุปกรณ์และแท่นผลิตปิโตรเลียมได้ย่อมกระทบการผลิตก๊าซฯ ตามสัญญา ดังนั้น บริษัทจึงได้เจรจากับ ปตท.ในฐานะผู้รับซื้อก๊าซฯ และภาครัฐเพื่อวางมาตรการรับมือต่อไป ทั้งนี้ บริษัทยังไม่มีแผนปรับลดงบการลงทุน 5 ปีแต่อย่างใด
ส่วนโครงการโมซัมบิก ขณะนี้ได้หยุดดำเนินการก่อสร้างโครงการหลังเกิดความไม่สงบใกล้พื้นที่โครงการ ดังนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการประเมินความเสียหายจากเหตุการณ์ดังกล่าว
นางอรชรกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas to Power ในเมียนมา มูลค่าการลงทุน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐว่า ขณะนี้ยังคงดำเนินโครงการตามปกติ โดยเจรจากับพันธมิตรเกี่ยวกับโรงไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในปีหน้า และจะเริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ในปี 2568
ทั้งนี้ โครงการ Gas to Power ในเขตไจลัท ภูมิภาคอิรวดี และระบบขนส่งก๊าซ ทั้งนอกชายฝั่งและบนบกจากเมืองกันบก-เมืองดอร์เนียน-เมืองไจลัท รวมระยะทาง 370 กิโลเมตร เพื่อป้อนก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้าขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ และการวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขตไจลัทไปยังเขตลานทายาในภูมิภาคย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา