xs
xsm
sm
md
lg

BPP คาดปิดดีลโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ Q2

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"บ้านปู เพาเวอร์" คาดปิดดีลโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐฯ 1 แห่ง ไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 พร้อมเดินหน้าเจรจาขยายและเพิ่มการลงทุนในเวียดนาม จีน และญี่ปุ่น เหตุความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง และตามแผนเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปีข้างหน้า เตรียมรับรู้รายได้จากโครงการ Nakoso IGCC ในญี่ปุ่นไตรมาส 2 นี้ คาดกำไรปีละ 220-250 ล้านบาทต่อปี

ดร.กิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ปีนี้คาดว่าจะสรุปดีลการเจรจาเพื่อลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศได้ไตรมาส 2 หรือต้นไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะมีโครงการโรงไฟฟ้าทั้งพลังงานลม และโซลาร์ ซึ่งเป็นการลงทุนในประเทศ ลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น รวมถึง IGCC อีกทั้งในส่วนของเชลล์แก๊สหรือโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่สหรัฐฯ 2 แห่ง คาดจะสรุปได้ 1 แห่งในครึ่งแรกปีนี้ ขณะที่ตั้งงบลงทุนไว้ 200-300 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการลงทุนต่างๆ ซึ่งขณะนี้ใช้เงินแล้วราว 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐในการเข้าลงทุนโรงไฟฟ้า Nakoso Integrated Gasification Combined Cycle (Nakoso IGCC) ในประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 543 เมกะวัตต์

ล่าสุด โรงไฟฟ้า Nakoso IGCC ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง BPP ถือหุ้น ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะรับรู้รายได้เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดจะมีกำไรปีละ 220-250 ล้านบาทต่อปี และจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ BPP สามารถขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่นให้เติบโตขึ้นถึง 128 เมกะวัตต์ในระยะเวลา 1 ปี โดยมาจากการ COD โรงไฟฟ้า 2 แห่ง เมื่อปลายปี 2563 พร้อมเตรียมเดินหน้า COD โครงการโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งตามแผนในปี 2564 ซึ่งการลงทุนในโรงไฟฟ้า Nakoso IGCC ยังเป็นการตอกย้ำกลยุทธ์ Greener & Smarter และทิศทางการลงทุนที่มุ่งขยายพอร์ตพลังงานที่สมดุลและยั่งยืน ด้วยการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย Gasification ที่มีประสิทธิภาพการผลิตพลังงานสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ดร.กิรณ กล่าวอีกว่า BPP สนใจที่จะลงทุนในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นและความต้องการใช้ไฟฟ้ามีสูงมาก ที่สำคัญคือญี่ปุ่นเน้นพลังงานสะอาด อีกทั้งการซื้อขายไฟฟ้าจะมีราคาสูง ซึ่งปัจจุบัน BPP มีสัญญาขายไฟฟ้า หรือ PPA อยู่แล้ว แต่ขณะนี้รัฐบาลญี่ปุ่นจะออก PDP ฉบับใหม่ออกมาและต้องรอดูเงื่อนไขว่าจะเป็นเช่นใด กระนั้น BPP ยังสนใจที่จะยกระดับการขายไฟฟ้าโดยตรงให้แก่ลูกค้ามากกว่าจะผ่านคนกลางหรือรัฐ หากมีความเป็นไปได้

ทั้งนี้ ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา BPP ขยายกำลังผลิตไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นได้ถึง 128 เมกะวัตต์ จากการ COD โรงไฟฟ้าตั้งแต่ปลายปี 2563 คือ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ยามางาตะ (Yamagata) และยาบูกิ (Yabuki) กำลังผลิตรวม 25 เมกะวัตต์ รวมทั้งเตรียมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โครงการโรงไฟฟ้าในปี 2564 ตามแผน อีก 2 แห่ง คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคนเซนนุมะ (Kesennuma) กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และชิราคาวะ (Shirakawa) กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ และล่าสุดเพิ่มโรงไฟฟ้ารูปแบบใหม่อย่าง Nakoso IGCC กำลังผลิต 73 เมกะวัตต์ และตามแผนงานของบริษัท เพื่อบรรลุเป้าหมายกำลังผลิต 5,300 เมกะวัตต์ภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า

"เรายังต้องการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม โดยเฉพาะในญี่ปุ่นเพราะความต้องการพลังงานมีสูงต่อเนื่องและเน้นโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว และโครงการที่ใกล้จะแล้วเสร็จ (Brownfield) ที่สร้างกระแสเงินสดได้ทันที" ดร.กิรณ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น