กรมทรัพย์สินทางปัญญาเผยสหรัฐฯ คงสถานการณ์คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ปี 64 อยู่บัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (WL) แต่ชมไทยมีความก้าวหน้าการคุ้มครอง มีการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย ชี้เป็นผลจากความมุ่งมั่นทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมลุยต่อทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา ตั้งเป้าผลักดันไทยหลุดจากทุกบัญชีในอนาคต
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ได้ประกาศผลการพิจารณาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศต่างๆ ภายใต้กฎหมายการค้าสหรัฐฯ มาตรา 301 พิเศษ ประจำปี 2564 โดยยังคงประเทศไทยให้อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List : WL) เหมือนเดิม ร่วมกับอีก 23 ประเทศ เช่น เวียดนาม ปากีสถาน ไนจีเรีย โรมาเนีย ตุรกี บราซิล แคนาดา และเปรู เป็นต้น ซึ่งถือว่าน่าพอใจ และต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ร่วมแรงร่วมใจในการทำงานอย่างหนัก และหวังว่าทุกหน่วยงานจะร่วมมือกันต่อไป
“การที่ไทยมุ่งมั่นพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะส่งผลให้ไทยสามารถรักษาสถานะในบัญชี WL ไว้ได้แล้ว ยังมีส่วนเสริมสร้างบรรยากาศทางการค้าการลงทุนในประเทศ และสร้างแรงจูงใจให้คนไทยคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญามากยิ่งขึ้น อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ”
ทั้งนี้ ในการประกาศผลครั้งนี้มี 9 ประเทศที่อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List : PWL) ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย ยูเครน อาร์เจนตินา ชิลี และเวเนซุเอลา
นายวุฒิไกรกล่าวว่า ในการประกาศผลครั้งนี้สหรัฐฯ ได้ชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญด้านการคุ้มครองและป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา และชื่นชมกระทรวงพาณิชย์ที่มีการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาอย่างต่อเนื่อง มีการปราบปรามการละเมิดทั้งในท้องตลาดและบนอินเทอร์เน็ต การพัฒนากฎหมายให้ทันสมัยตอบโจทย์สถานการณ์ปัจจุบัน การเตรียมการเข้าเป็นภาคีความตกลงระหว่างประเทศ เช่น ความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ระหว่างประเทศ และสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์แห่งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก รวมถึงการจัดกิจกรรมสร้างความตระหนักรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญาในหลากหลายรูปแบบ
นอกจากนี้ ยังชื่นชมกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นหน่วยงานแกนกลางระหว่างภาครัฐของไทยกับภาคเอกชนต่างประเทศ ทำให้สหรัฐฯ ทราบการดำเนินการของไทยที่ชัดเจน ซึ่งกรมฯ จะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ จัดทำแผนงานด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Work Plan) เพื่อผลักดันให้ไทยหลุดจากทุกบัญชีในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังมีข้อห่วงกังวลในบางประเด็น เช่น การคุ้มครองและการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในช่องทางต่างๆ เป็นต้น