xs
xsm
sm
md
lg

“ไทยสร้างไทย” ร่วมเบรก CPTPP ชี้ช่องโหว่เพียบ ห่วงกระทบเกษตร-ยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไทยสร้างไทย” ร่วมวงเบรกไทยเข้าร่วมภาคี CPTPP สับไม่รอบคอบ ไม่คำนึงถึงประโยชน์ ปชช. ภาคการเกษตร-สาธารณสุขพัง โวยปิดกั้นความมีส่วนร่วม วอน ส.ส.ร่วมกันสกัด

วันนี้ (6 พ.ค. 64) พรรคไทยสร้างไทย ออกแถลงการณ์ เรื่องการเข้าร่วม แถลงการณ์พรรคไทยสร้างไทย เรื่องการเข้าร่วมภาคี ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) ของประเทศไทย โดยระบุว่า พรรคไทยสร้างไทยพบว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ยังไม่รอบคอบ ไม่ได้คำนึงอย่างจริงจังถึงข้อมูลและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและสังคมอย่างกว้างขวาง

วิกฤตโควิด-19 ที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่ เป็นบทเรียนสำคัญกับทุกสังคม เพราะทำให้ตระหนักว่าความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยา และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นหัวใจสำคัญของการจะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ แต่ความพยายามผลักดันให้ประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP กลับมิได้มีการประเมินภาวการณ์ของโลกในบริบทต่างๆ อย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นทิศทางการลงทุนหรือห่วงโซ่อุปทานที่จะเปลี่ยนแปลงไปภายหลังวิกฤตโควิด-19

การเข้าร่วม CPTPP มีผลกระทบต่อภาคการเกษตรของไทยอย่างมาก ข้อมูลของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่าประเทศไทยมีเกษตรกรทั้งสิ้น 8,094,954 ครัวเรือน หรือ 9,368,245 ราย ซึ่งเป็นร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ประชากรกลุ่มนี้จะถูกต่างชาติผูกขาดเมล็ดพันธุ์หลายชนิด โดยเมล็ดพันธุ์จะมีราคาแพงขึ้น เนื่องจากบริษัทรายใหญ่จะผูกขาดยาวนานยิ่งขึ้น โดยจากเดิม 7 ปี เป็น 15 ถึง 20 ปี ที่ผ่านมา มูลนิธิชีววิถีได้ทำการศึกษาและพบว่า หากต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกรอบ ราคาของพืชผลทางเกษตรจะยิ่งมีราคาแพงขึ้น 6 ถึง 12 เท่า ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าเกษตร ในปี 2562 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกมากถึง 431,386.89 ล้านบาท ทั้งนี้ หากมีต้นทุนที่สูงขึ้น ประเทศไทยจะไม่สามารถแข่งขันระยะยาวได้

การเข้าร่วม CPTPP ยังส่งผลกระทบต่อด้านการสาธารณสุขของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงยา การพัฒนาอุตสาหกรรมยาในประเทศ หรือการส่งผลต่อเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุขในด้านอื่น เช่น การผูกโยงการขึ้นทะเบียนตำรับยากับระบบสิทธิบัตร (Patent linkage) และข้อผูกมัดว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะทำให้เกิดการชะลอการแข่งขันของยาสามัญ เมื่อยาสามัญไม่สามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ ยาต้นแบบก็จะผูกขาดตลาดได้นานเกินกว่า 20 ปี ทำให้ประชาชนที่ได้ลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 47.51 ล้านราย ไม่สามารถเข้าถึงยารักษาโรคต่างๆ ได้ อีกทั้งรัฐบาลยังจะต้องเสียงบประมาณเพื่อจัดซื้อยาในราคาแพงขึ้นอีกด้วย

การออกนโยบายสาธารณะเป็นปัจจัยสำคัญของการบริหารประเทศ จึงต้องเป็นไปอย่างรอบคอบและเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทุกคนอย่างแท้จริง การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลให้การออกนโยบายสธารณะในอนาคตทำได้อย่างมีข้อจำกัดและมีโอกาสถูกแทรกแซงจากรัฐภาคีหรือบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมาย 50 ฉบับ เพื่อให้สอดรับกับกฎของ CPTPP รัฐบาลไทยจะถูกห้ามให้สิทธิพิเศษกับรัฐวิสาหกิจไทยในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ต้องมีหลักเกณฑ์เพื่อให้การปฏิบัติต่อบริษัทต่างชาติเป็นไปอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค การให้สิทธินักลงทุนฟ้องรัฐบาลได้ในบางกรณีที่นโยบายรัฐส่งผลลบต่อธุรกิจ การที่จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์เหล่านี้จะทำให้เกิดความอ่อนแอของประเทศในระยะยาว ความสามารถของคนไทยในการแข่งขันกับต่างประเทศจะลดลงหากไม่มีมาตรการและกระบวนการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพรองรับ

นอกจากนี้ ข้อบกพร่องอันมีนัยสำคัญ ก็คือ การขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่ผ่านมามีการจัดเวทีสร้างความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นเพียงไม่กี่ครั้ง ซ้ำยังเป็นเวทีที่เชิญเฉพาะตัวแทนภาคธุรกิจ ภาคราชการ และตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนเฉพาะองค์กรที่ทำงานด้านการติดตามและตรวจสอบนโยบายการค้าเสรีเท่านั้น ทั้งๆ ที่การเข้าร่วม CPTPP ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายกลุ่มในประเทศไทย

พรรคไทยสร้างไทยขอเรียกร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรให้คัดค้านการเจรจาเข้าร่วม CPTPP โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาด อีกทั้งรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะมีการดำเนินการใดๆ ก็ตามที่มีผลผูกพันต่อประเทศไทยในระยะยาวในขณะนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น