xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.เร่งแผนพัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วน 7 แห่ง เล็งดึงเอกชนร่วมทุนผุด Service Center

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” สั่ง กทพ.ทำ Action Plan พัฒนาพื้นที่ใต้ทางด่วนกว่า 1 พันไร่ เปิดแผนงาน 7 แห่ง คาดนำร่องใต้ด่านอโศก 1 ประมาณ 3 ไร่ พัฒนาลานกีฬาและพักผ่อน คาดมีศักยภาพดึงเอกชนร่วมทุน “บางโปรง” เนื้อที่ 50 ไร่ “อุดรรัถยา” 2 จุด พัฒนาเป็น Service Center ครบวงจร

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามนโยบายเรื่อง การใช้พื้นที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มาทำประโยชน์ให้ประชาชน ว่า ปัจจุบัน กทพ.มีเขตทางรวมทั้งหมดประมาณ 2,900 ไร่ สามารถนำมาใช้เป็นสาธารณประโยชน์ได้ประมาณ 1,136 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 39.17 โดย กทพ.ได้ดำเนินการพัฒนาพื้นที่บางส่วนเพื่อสาธารณประโยชน์ไปบ้างแล้ว เช่น การพัฒนาสวนหย่อม สวนสาธารณะ เส้นทางจักรยาน และการจัดทำเส้นทางลัด เป็นต้น สำหรับการพัฒนาพื้นที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนตามนโยบายนั้น กทพ.ได้พิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพจำนวน 7 แห่ง ดังนี้

1. บริเวณใต้ด่านอโศก 1 เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวพร้อมลู่วิ่ง ลานพักผ่อนและกิจกรรม โซนสันทนาการและลานจอดรถ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้พันธมิตรรับไปพัฒนาได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564

2. บริเวณพื้นที่ร่วมบริการทางพิเศษเพลินจิต เนื้อที่ประมาณ 4.5 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ร่วมบริการ และลานกิจกรรม คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้พันธมิตรรับไปพัฒนาได้ในเดือนกรกฎาคม 2566

3. บริเวณศูนย์บริการทางพิเศษบางโปรง เนื้อที่ประมาณ 50 ไร่ พัฒนาเป็น Service Center ครบวงจร (เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป)

4. บริเวณพื้นที่บริการสังคม ทางพิเศษสีลม เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ร่วมบริการ และลานกิจกรรม คาดว่าจะสามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกได้ประมาณเดือนกันยายน 2566

5. บริเวณสถานที่บริการทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) กม.16 เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ พัฒนาเป็น Service Area ครบวงจร (เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งจะต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป)

6. พื้นที่ทางพิเศษอุดรรัถยา บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เนื้อที่ประมาณ 98 ไร่ พัฒนาเป็น Park & Ride และโลจิสติกส์ (เป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งนี้ อาจพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

7. พื้นที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ พัฒนาเป็นศูนย์บริการรัฐวิสาหกิจ ร้านค้า Skywalk และพื้นที่สาธารณะ คาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้ผู้ที่ได้รับคัดเลือกได้ประมาณเดือนกันยายน 2567

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ในการพัฒนาพื้นที่นั้นให้ กทพ.จัดทำ Action Plan ให้มีความชัดเจน และสื่อสารการดำเนินการตามแผนงานเพื่อสร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง และพิจารณาภายใต้หลักการว่า การพัฒนาจะต้องสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการบริหาร และไม่เป็นภาระต่อภาครัฐ และมีการออกแบบโครงการจะต้องออกแบบให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้พื้นที่ด้วย รวมถึงจะต้องลดปัญหาที่จะเกิดจากการพัฒนาพื้นที่ โดยให้ กทพ.ทำความเข้าใจกับประชาชนถึงวัตถุประสงค์ของการพัฒนาให้มีความชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการดำเนินการ

สำหรับพื้นที่ที่จะพัฒนาจะเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ขอให้ กทพ.พิจารณาแนวทางร่วมลงทุนที่ดีที่สุดในการดำเนินการ โดยจะต้องมีความชัดเจนทั้งในส่วนของวงเงิน การลงทุน และผลตอบแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น