xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.จ่อ MOU ก.เกษตรฯ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ สินค้าเน่าเสียง่ายเพิ่มมูลค่าส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” เตรียมเปิดโครงการช่องทางพิเศษสินค้าเน่าเสียง่าย เร่ง ทอท.เซ็น MOU ก.เกษตรฯ ใน พ.ย. 64 จับมือพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ยกระดับการตรวจสอบสินค้าเกษตร เพิ่มมูลค่าการส่งออกผ่านบริษัท “ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า”

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ประชุมติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการช่องทางพิเศษสำหรับสินค้าเน่าเสียง่าย (Perishable Premium Lane : PPL) ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อเป็นศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าการเกษตรก่อนส่งออกไปยังประเทศปลายทางได้อย่างมีมาตรฐานสากล โดยระยะแรกจะดำเนินการจัดตั้ง “สถานที่สำหรับเตรียมสินค้าเกษตร สินค้าเน่าเสียง่าย และตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออกต่อไปในอนาคตผ่านทางช่องทางพิเศษ” (Perishable Premium Lane) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงสถานที่ให้บริการ บริเวณอาคารคลังสินค้า 4 (WH4) อยู่ภายในเขตปลอดอากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยดำเนินงานผ่านบริษัทจำกัด ในนาม บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอเรเตอร์ จำกัด (AOT TAFA Operator Co.,Ltd : AOTTO) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ทอท. กับ บริษัท ทาฟ่า คอนซอร์เที่ยม จำกัด

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณารายละเอียดของการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกระทรวงคมนาคม โดย ทอท. และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 
โดยกรมวิชาการเกษตร เกี่ยวกับแผนการดำเนินงานในระยะยาวของโครงการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าเกษตรก่อนส่งออก (Pre-shipment Inspection Center) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสองกระทรวงในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร และการจัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนส่งออกทางอากาศไปยังประเทศปลายทางได้อย่างมีมาตรฐานสากล 

โดยให้ ทอท.เร่งจัดทำรายละเอียด MOU ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้แล้วเสร็จ เพื่อให้สามารถลงนามได้ภายในเดือน พ.ย. 2564 รวมถึงจัดทำ Action Plan เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความชัดเจน และสามารถมุ่งไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์ตรวจสอบและรับรองคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก (Certified Hub) ในอนาคต ซึ่งจะมีการกำหนดการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานดังกล่าวในเดือน พ.ค. 2565 ต่อไป

โดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบด้วย
                1. ร่วมกันพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูงขึ้น
                2. ร่วมกันวางระบบการตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าเกษตรก่อนบรรทุกขึ้นเครื่องบิน (pre-shipment inspection) เพื่อขนส่งไปยังประเทศปลายทาง
                3. ร่วมกันผลักดันและโน้มน้าวให้ประเทศคู่ค้าตระหนักถึงประโยชน์ของการตรวจสอบสินค้าเกษตรก่อนบรรทุกขึ้นเครื่องบิน
                4. ร่วมกันผลักดันและโน้มน้าวให้ประเทศคู่ค้าส่งเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรหรือหน่วยงานที่ได้รับความไว้วางใจมาตรวจสอบสินค้าเกษตร ณ ท่าอากาศยานของไทยก่อนบรรทุกขึ้นเครื่องบินไปยังประเทศปลายทาง
                5. จัดตั้งคณะทำงานหรือคณะเจรจาเพื่อติดต่อประสานงานกับประเทศต่างๆ หรือหน่วยงาน
หรือองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ
                6. ร่วมกันจัดสัมมนาหรือการฝึกอบรมให้แก่บุคลากรของทั้งสองฝ่าย หรือให้แก่บุคคลภายนอก รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน
                7. ร่วมกันพัฒนาระบบดิจิทัลหรือโซลูชันเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน และเพื่อประสานการทำงานของทั้งสองกระทรวงภายใต้ MOU ฉบับนี้ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
                8. จัดตั้งงบประมาณเชิงบูรณาการเพื่อดำเนินการต่างๆ ภายใต้ MOU ฉบับนี้
                9. ดำเนินกิจกรรมร่วมกันในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือเป็นการยกระดับมาตรฐานการตรวจสอบสินค้าเกษตรให้แก่ผู้ส่งออกและเกษตรกรไทย รวมทั้งยังเป็นการสนับสนุนการส่งออกสินค้าภาคเกษตรเพิ่มมูลค่าประเภท พืช ผัก ผลไม้ ไปสู่ตลาดต่างประเทศ อันจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางอากาศและระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศ โดยในระยะแรกจะเริ่มที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และจะขยายต่อไปยังท่าอากาศยานอื่นๆ ในอนาคต

               




กำลังโหลดความคิดเห็น