อุตสาหกรรมอาหารของไทยลุ้นส่งออกฝ่าด่านโควิด-19 ระลอกใหม่ มั่นใจปี 2564 โต 5-7% มูลค่าแตะระดับ 1 ล้านล้านบาทได้หลังหลายประเทศทั่วโลกเริ่มฉีดวัคซีนที่จะส่งผลต่อการบริโภคภาพรวมเพิ่มขึ้น ชี้เทรนด์การบริโภคอาหารเปลี่ยนสู่ยุคใหม่มีแนวโน้มราคาไม่แพงมุ่งตอบโจทย์ดูแลสุขภาพ แนะรัฐทำ Big Data บริหารทั้งระบบหนุนไทยไม่ให้ตกขอบเวทีครัวโลก
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปและประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แม้ไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบใหม่ แต่ภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการที่หลายประเทศทั่วโลกเริ่มมีการฉีดวัคซีนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาส่งผลให้การบริโภคอาหารเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น มั่นใจว่าในปี 2564 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะเติบโตได้ประมาณ 5-7% หรือมีมูลค่าประมาณ 1,000,000 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปี 2563 ที่การส่งออกอาหารมีมูลค่าอยู่ที่ 980,703 ล้านบาท ลดลง 4.1% จากปี 2562
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารายละเอียดของสินค้าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์โควิด-19 ที่สำคัญ ได้แก่ 1. ขนาดบรรจุหรือปริมาณสินค้าอาหารในภาพรวมมีแนวโน้มลดลงเพื่อตอบสนองผู้บริโภคระดับครัวเรือนมากกว่าภาคธุรกิจห้างร้าน โรงแรม ที่เติบโตชะลอตัวลงตามทิศทางเศรษฐกิจ 2. อาหารมีแนวโน้มที่ราคาไม่แพงแต่ตอบโจทย์โภชนาการที่ดีตามทิศทางเศรษฐกิจ ทั้งอาหารพื้นฐานจากโปรตีนและพืชที่ทำเป็นเนื้อสัตว์ (Plant Based Food) ที่หลายประเทศกำลังนิยมเพื่อมุ่งการใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นเทรนด์มาแรง และ 3. ผลไม้เพื่อการบริโภคในบ้านที่มีการเติบโตค่อนข้างมากโดยเฉพาะตลาดเอเชีย
“แนวโน้มการพัฒนาอาหารจะต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคนี้ให้มากขึ้น ซึ่งในอดีตราคาแพงจะอยู่ในกลุ่มพรีเมียม แต่ยุคนี้ราคาถูกหรือแพงแต่หากมีจุดใดที่บ่งบอกถึงการดูแลสุขภาพก็จะเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า ซึ่งการส่งออกอาหารของไทยที่โดดเด่นตอนนี้เป็นกลุ่มผลไม้ที่พบว่าตลาดเอเชียเติบโตมากต่อเนื่อง เพราะผลไม้ต้องการความสดระยะทางที่ส่งในเอเชียจึงง่ายกว่า ซึ่งหากเราสามารถรักษาความสดเพื่อส่งไประยะไกลๆ ได้โอกาสยังมีอีกมาก” นายวิศิษฐ์กล่าว
ทั้งนี้ ปี 2563 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยมีส่วนแบ่งตลาดโลกลดลงมาอยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก จากอันดับที่ 11 ในปี 2562 หากพิจารณาจะพบว่าประเทศที่ลำดับขยับขึ้นมา เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม อินเดีย ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งโตจากการส่งวัตถุดิบทางการเกษตรเพิ่มขึ้น ดังนั้น ไทยที่มีศักยภาพในการแปรรูปสินค้าอาหารสามารถปรับการใช้วัตถุดิบของเพื่อนบ้านมาแปรรูปเพื่อส่งออกได้เช่นกันภายใต้การนำเข้าตามกรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)
ปัจจุบันไทยมุ่งเน้นการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารที่เน้นลดการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อส่งเสริมเกษตรกรภายในประเทศ โดยคิดเป็นสัดส่วนใช้วัตถุดิบในประเทศประมาณ 75% ซึ่งยังมีช่องว่างให้ไทยสามารถใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศที่มีศักยภาพมาแปรรูปเพื่อการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตวัตถุดิบอาหารของไทยควรมุ่งไปสู่มูลค่าเพิ่ม ความปลอดภัย ที่มากกว่าการเน้นปริมาณเพื่อมาแข่งขันในราคาต่ำๆ ในเวทีโลก เพราะไทยไม่ได้มีพื้นที่จำนวนมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ
“ตัวอย่างมะพร้าวที่ใช้แปรรูปทำกะทิส่งออก กับมะพร้าวน้ำหอมที่บริโภคซึ่งมีหลายพันธุ์มาก เราต้องยอมรับว่ากรณีมะพร้าวกะทิเราแข่งขันตลาดสู้ต้นทุนเพื่อนบ้านได้ยาก ซึ่งหากเขาทนไม่ได้ก็อาจย้ายฐานผลิตไปยังต้นทุนต่ำกว่าได้เช่นกัน กรณี ส้ม ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ไปทำน้ำผลไม้ต้นทุนเพื่อนบ้านก็ถูกมาก ดังนั้น อะไรที่ไม่เพิ่มมูลค่าไทยต้องแยกออกมาให้ชัดแล้วบอกเกษตรกรให้เขารู้ทิศทาง ซึ่งผมเห็นว่าการทำ Big Data สำคัญในยุคนี้ ไทยควรมีแอปพลิเคชันที่เปิดให้เกษตรกรมาลงทะเบียน เชื่อมโยงกับผู้ผลิตสินค้าสำเร็จรูป ผู้ส่งออก นำระบบดิจิทัลมาบริหารที่จะให้เห็นภาพว่าแนวโน้มเกษตรตัวไหนมาและไทยยังขาดแคลน ตัวไหนยังมีตลาด ถ้าจะป้อนโรงงานต้องมีมาตรฐานอย่างไร มันจะเห็นหมดในนี้ ซึ่งหากเกษตรกรมาลงทะเบียนรัฐพร้อมที่จะสนับสนุนดูแล ฯลฯ” นายวิศิษฐ์กล่าว