xs
xsm
sm
md
lg

EGCO ศึกษา BHD ต่อยอดธุรกิจกรีนไฮโดรเจน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ผลิตไฟฟ้า” ศึกษาหาโอกาสร่วมทุนพัฒนา BHD หวังต่อยอดสู่ธุรกิจกรีนไฮโดรเจน รวมทั้งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) สอดรับเทรนด์พลังงานโลก

นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทได้วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่เทรนด์พลังงานสะอาด ซึ่งขณะนี้เรื่องของเทคโนโลยี ไบโอไฮโดรจีเนทดีเซล (Bio-Hydrogenated Diesel : BHD) กำลังเป็นที่น่าสนใจ โดยนำเอาน้ำมันจากไบโอดีเซลต่างๆ มาผสมไฮโดรเจนผ่านกระบวนการไฮโดรจีเนชันเพื่อมาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล โดยเอ็กโก กรุ๊ป กำลังศึกษาและหาโอกาสร่วมทุนในการพัฒนาเทคโนโลยี BHD หวังต่อยอดธุรกิจสู่กรีนไฮโดรเจน

ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด ทางเอ็กโก กรุ๊ป ยังมุ่งศึกษาวิจัยและพัฒนาเรื่องของ Carbon Capture Utilization and Storage หรือ CCUS ที่เป็นเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน ถึงแม้ว่าโรงไฟฟ้าจะใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่ก็สามารถจัดทำระบบกักเก็บพลังงานจากการใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาดได้ด้วย โดยเอ็กโก กรุ๊ป ก็จะดำเนินการศึกษาพร้อมกับลงมือปฏิบัติเพื่อให้บริษัทสามารถเติบโตไปควบคู่กับเทรนด์พลังงานสะอาดในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน เอ็กโก กรุ๊ป มองว่า บางประเทศยังให้ความสำคัญต่อการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า เห็นได้จากการบรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้าไปในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของบางประเทศ เนื่องจากถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงที่มีต้นทุนผลิตไฟฟ้าต่ำสุดเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ มองว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินก็ยังมีโอกาสอยู่

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทได้มีการลงทุนเรื่องของไฮโดรเจนแล้วผ่านโครงการโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง “กังดง” ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการดึงไฮโดรเจนออกจากก๊าซธรรมชาติ โดยโรงไฟฟ้ากังดง ทางเอ็กโก กรุ๊ปถือหุ้นในสัดส่วนอยู่ที่ 49% ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 19.80 เมกะวัตต์ จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563

ขณะเดียวกัน เอ็กโก กรุ๊ปให้ความสำคัญต่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ซึ่งจะเห็นว่าเอ็กโกฯ ได้เริ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ในพอร์ตตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกว่า 1,360 เมกะวัตต์ ถือว่าเป็นปริมาณที่สูงมาก แต่ทั้งนี้ ก็ยังให้ความสำคัญต่อพลังงานหมุนเวียน ตามเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมภายในปี 2573


กำลังโหลดความคิดเห็น