เอ็กโก กรุ๊ปจับมือ กฟผ.-ราชกรุ๊ปตั้งบริษัทร่วมทุนลุยธุรกิจใหม่ด้านพลังงานเพื่ออนาคตทั้ง Smart Grid และแบตเตอรี่รองรับอีวี เผยปีนี้วางเป้ากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 1 พันเมกะวัตต์ พร้อมขยายพอร์ตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 25% ใน 10 ปีข้างหน้า
นายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) (EGCO) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ของบริษัทผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-AGM) วันนี้ (19 เม.ย.) ว่า บริษัทฯ ได้จับมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บมจ.ราชกรุ๊ป (RATCH) ตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อลงทุนแผนธุรกิจใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของกลุ่ม กฟผ.สู่เชิงพาณิชย์ และลงทุนในธุรกิจพลังงานเพื่ออนาคต (Future Energy) เช่น สมาร์ทกริด นวัตกรรมที่รองรับยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) และแบตเตอรี่ การพัฒนาสถานีไฟฟ้าและระบบส่งให้รองรับการเข้ามาของพลังงานทดแทน เป็นต้น
เนื่องจากการส่งเสริมรถอีวีถือเป็นนโยบายแห่งชาติ หลังจากภาครัฐมีการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2578 รถเครื่องยนต์สันดาปจะต้องเปลี่ยนเป็นรถอีวี 100% จะส่งผลให้แบตเตอรี่มีความต้องการใช้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นโอกาสของของเอ็กโก กรุ๊ป ดังนั้น บริษัทร่วมทุนกับ กฟผ.ก็จะศึกษาโอกาสในเรื่องนี้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาพันธมิตรร่วมลงทุน
นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นการลงทุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น โดยมองโอกาสเข้าร่วมลงทุนโครงการใหม่ๆ เช่น โซลาร์ฟาร์ม และพลังงานลม ซึ่งได้เข้าไปลงทุนในไต้หวันแล้ว ส่วนในประเทศไทยหากเปิดโอกาสลงทุนก็พร้อมเข้าร่วม อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากบริษัทก็ศึกษาโอกาสเข้าไปร่วมลงทุนด้วย เพื่อผลักดันให้บริษัทมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 25% ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมภายในปี 2573 และอีก 75% จะเป็นกำลังการผลิตจากพลังงาน Conventional และธุรกิจใหม่
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า กรณีสงครามระหว่างจีนกับไต้หวันนั้น ปัจจุบันบริษัทมีการลงทุนโครงการพลังงานลม “หยุนหลิน” ในไต้หวัน ถือหุ้น 25% คาดว่าบริษัทจะรับรู้กำไรปีละ 1,400 ล้านบาท ก็อาจมีผลกระทบเล็กน้อยเท่านั้น แต่การลงทุนไต้หวันไม่ใช่รายได้หลัก และบริษัทยังกระจายการลงทุนในหลายประเทศ
บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปีนี้อยู่ที่ 1.5 แสนล้านบาท เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าที่ยังเป็นธุรกิจหลัก ขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน และเกี่ยวเนื่อง ทั้งธุรกิจเชื้อเพลิง โครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้ง Smart Energy Solution เพิ่มมากขึ้นเพื่อรับเทรนด์พลังงานโลก
ในปี 2564 บริษัทวางเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันมีกำลังผลิต 6,016 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในปีนี้จะมาจากการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A)
บริษัทฯ มีโครงการใหม่ที่จะแล้วเสร็จผลิตเชิงพาณิชย์ในปีนี้ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล “หยุนหลิน” กำลังการผลิต 640 เมกะวัตต์ ในไต้หวัน ที่บริษัทฯ ถือหุ้น 25% จะรับรู้รายได้ปลายปีนี้, โครงการท่อส่งน้ำมันภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบริษัท ไทย ไปป์ไลน์ เน็ตเวิร์ค จำกัด (TPN) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 44.6% จะแล้วเสร็จและรับรู้รายได้ภายในปลายปีนี้เช่นกัน ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 ใน สปป.ลาว กำลังการผลิต 644 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ ถือหุ้น 25% จะรับรู้รายได้ต้นปี 2565
ดังนั้น ในปี 2564 บริษัทฯ มั่นใจจะมีกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องดีกว่าในปี 2563 กำไรสุทธิจะลดลงจากผลกระทบโควิด-19 และมีการจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าปีก่อน