กพช.เห็นชอบโครงสร้างค่าไฟฟ้าปี 2564-68 มอบ “กกพ.” ทำรายละเอียดเพื่อประกาศใช้ภายในปีนี้ เล็งนำค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense : PE) เช่นการอุดหนุนค่าไฟในพลังงานทดแทนแยกให้เห็นชัดเจนในบิลค่าไฟฟ้า
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานเปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า กพช.ได้พิจารณาเห็นชอบการกำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้าของไทยในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) และกรอบแนวทางการจัดทำโครงสร้างอัตราค่าไฟเพื่อให้ กกพ.ไปจัดทำรายละเอียดในการกำกับดูแลและกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสะท้อนต้นทุนในการให้บริการของกิจการไฟฟ้าอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้ไฟฟ้าทุกกลุ่ม เพื่อให้โครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
“การปรับค่าไฟจะต้องเป็นธรรม โดยไม่ควรเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าภายใต้บริบทเดิม และโครงสร้างอัตราขายปลีก ได้กำหนดให้มีการอุดหนุนอัตราค่าไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยโดยเฉพาะบ้านอยู่อาศัยที่มีรายได้น้อย โดยให้มีการพิจารณาคุณสมบัติผู้ที่สมควรได้รับการช่วยเหลือบนพื้นฐานที่เหมาะสม โดยโครงสร้างค่าไฟใหม่นี้จะเสร็จและประกาศใช้ภายในปีนี้” นายกุลิศกล่าว
นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมการบูรณาการระหว่าง กฟผ., การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่มี รมว.พลังงานเป็นประธาน เพื่อดูร่วมเรื่องการลงทุนทั้งระบบสายส่ง ระบบสมาร์ทกริด การลงทุนภาพรวมเพื่อรองรับพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีใหม่ ทั้งหมดจะเป็นอย่างไร เพื่อลดการลงทุนซ้ำซ้อน และสร้างความมั่นคง
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)กล่าวว่า โครงสร้างค่าไฟใหม่จะมีการนำค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense : PE) แยกให้เห็นชัดเจนในโครงสร้างใหม่ จากปัจจุบันที่มีเพียงค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ซึ่งจะทำให้มีความชัดเจนว่าหากมีเงินอุดหนุนช่วยประชาชนแล้วค่าไฟฟ้าแต่ละส่วนจะเป็นเท่าใด ในขณะเดียวกัน PE ก็จะสะท้อนเทคโนโลยีไฟฟ้าที่พลังงานทดแทนจะเข้ามาในระบบเพิ่มมากขึ้น และการประมูลราคาแอลเอ็นจีตลาดจรต้นทุนต่ำลงก็จะสะท้อนส่วนนี้
“บิลค่าไฟฟ้าเดิมจะมีค่าไฟฟ้าฐาน ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ก็จะมีค่า PE ที่จะแยกออกมาให้ชัดเจนจากเดิมที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐาน เพื่อให้เห็นชัดเจนสะท้อนต้นทุนต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอุดหนุนนโยบายรัฐ อาทิ พลังงานหมุนเวียน โดยขณะนี้แม้ต้นทุนจะต่ำแต่อนาคตก็จะถูกลงได้เช่นกัน” นายวัฒนพงษ์กล่าว