การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่เกิดขึ้นเสมือนเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพลังงานจากน้ำมันไปเป็นพลังงานทดแทนและไฟฟ้ารวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และภาครัฐออกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือก เพื่อให้ประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป ต่างเร่งปรับตัวให้เร็วเพื่อให้ได้รับผลกระทบให้น้อยที่สุดหรือฉวยโอกาสเชื่อมโยง แตกไลน์ธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดอย่างมั่นคง
บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการกลั่นน้ำมันรายใหญ่สุดในไทย และแกนนำธุรกิจการกลั่นน้ำมันในเครือ ปตท. มีกำลังการกลั่นเฉลี่ย 2.75 แสนบาร์เรล/วัน และในปี 2566 ไทยออยล์จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนบาร์เรล/วันภายใต้โครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) มูลค่าการลงทุนไม่เกิน 4,174 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพและขยายกำลังการกลั่นน้ำมันเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยเตรียมพร้อมต่อยอดผลพลอยได้จากการกลั่นไปธุรกิจปิโตรเคมีเพิ่มมากขึ้นโดยที่ให้ความสำคัญในธุรกิจไฟฟ้า เพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับกระแสการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่ไฟฟ้า
วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์คือการเป็นบริษัทพลังงานเคมีภัณฑ์ที่แข็งแกร่ง ควบคู่กับการส่งมอบผลตอบแทนที่ยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินธุรกิจ 3 ด้าน ดังนี้ 1. การต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าให้แก่ทุกโมเลกุลที่ผลิต (Hydrocarbon Value Chain Maximization) ด้วยการบูรณาการห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการต่อยอดธุรกิจการกลั่นน้ำมันด้วยการแสวงหาโอกาสการลงทุนปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ และต่อยอดผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
2. การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานและสร้างแพลตฟอร์มสำหรับการเติบโต (Supply Chain Management as a Growth Platform) โดยดำเนินงานร่วมกันในกลุ่มไทยออยล์ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การบริการลูกค้า ตลอดจนส่งมอบผลิตภัณฑ์ผ่านการบริหารจัดการระบบกระจายสินค้าและโลจิสติกส์เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กลุ่มบริษัท
และ 3. การกระจายการเติบโตเพื่อลดความผันผวนของกำไร (Earnings Diversification) เป็นการกระจายพอร์ตการลงทุนเพื่อสร้างรายได้และกำไรที่มั่นคงพร้อมกับแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสอดคล้องแนวโน้มในอนาคต โดยบริษัทเพิ่มพอร์ตการลงทุนใน 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจไฟฟ้า และธุรกิจใหม่
ด้านธุรกิจไฟฟ้า เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรให้ไทยออยล์อย่างสม่ำเสมอผ่านการถือหุ้น 20.78% ในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC รวมทั้งบริษัทลูกอย่าง บริษัท ท็อป เอสพีพี จำกัด ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโรงงานต่างๆ ในพื้นที่โรงกลั่น ทั้งนี้ ในอนาคตไทยออยล์จะเน้นธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้นผ่าน GPSC
สำหรับธุรกิจใหม่เป็นอีกธุรกิจที่ไทยออยล์ให้ความสำคัญ โดยมีการตั้งงบฯ เพื่อใช้ลงทุนธุรกิจเชิงนวัตกรรมผ่านการลงทุนในกองทุนร่วม (Venture Capital Fund) และการลงทุนสู่สตาร์ทอัพ รวมถึงการผลักดันนวัตกรรมที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของไทยออยล์เพื่อผลิตเชิงพาณิชย์
โดยบริษัทตั้งบริษัทย่อย คือ ท็อป เวนเจอร์ส เพื่อลงทุนผ่านกองทุนร่วมและสตาร์ทอัพโดยตรง ตั้งงบลงทุนราว 30 ล้านเหรียญสหรัฐในระยะเวลา 5-6 ปี ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาบริษัทเพิ่งใช้เงินลงทุนไปแค่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ ผ่าน 2 กองทุนร่วม ได้แก่ Rhapsody Venture Partners ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ ประยุกต์และวิศวกรรม ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่บริษัทฯ ให้ความสนใจ และ Grove Venture ประเทศอิสราเอล ที่เน้นการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีการผลิต
รวมถึงการได้เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพโดยตรง 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท WaveSense ทำธุรกิจประเภทระบบเซ็นเซอร์ระบุตําแหน่งที่มีความแม่นยําสูงเพื่อใช้ในธุรกิจกลุ่ม Mobility และบริษัท Everactive ประกอบธุรกิจประเภทระบบเซ็นเซอร์สําหรับ Industrial IOT ซึ่งไม่ต้องใช้แบตเตอรี่หรือสายไฟฟ้า ทั้งยังสามารถส่งสัญญาณจากการตรวจวัดแบบไร้สาย โดยในปี 2564 บริษัทฯ มีแผนจะเข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพเพิ่มเติม
สำหรับธุรกิจใหม่นี้ไทยออยล์จะมุ่งเน้นใน 3 ด้าน คือ 1. เทคโนโลยีด้านการผลิต และการบริหารจัดการ เพื่อต่อยอดเป็นสินค้าและบริการให้กับโรงงานอุตสาหกรรมอื่นในอนาคต (Manufacturing Technology) 2. เทคโนโลยีด้านความยั่งยืน ที่สร้างสรรค์ธุรกิจโดยคํานึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ (Better-Living Technology) 3. เทคโนโลยีเรื่องการเดินทาง การขนส่งและแหล่งพลังงานใหม่ (Mobility and New Energy)
ทั้งนี้ ไทยออยล์เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจมายาวนานที่สุดในกลุ่ม ปตท. โดยปี 2564 ไทยออยล์ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจมาครบ 60 ปี เพื่อให้ไทยออยล์เป็นบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่แข็งแกร่งอย่างยั่งยืน ก้าวสู่องค์กร 100 ปี ดังนั้น บริษัทฯ มีแผนที่จะเดินหน้าโครงการ Beyond CFP โดยจะนำผลิตภัณฑ์ผลพลอยได้จากโครงการ CFP มาเป็นวัตถุดิบ (Feed stock) ที่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 2.2 ล้านตันมาต่อยอดไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด แบ่งเป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ประมาณ 6 แสนตัน มี Light naphtha ประมาณ 7 แสนตันต่อปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายโอเลฟินส์ และมี Heavy naphtha ประมาณ 9 แสนตันต่อปี ซึ่งจะใช้เป็นวัตถุดิบในสายอะโรเมติกส์
ปัจจุบันไทยออยล์ก็มีการลงทุนปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์อยู่แล้วผ่านบริษัทลูก คือ บริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด (TPX) ดังนั้นวัตถุดิบ Heavy naphtha ที่เพิ่มขึ้นจะใช้ในการขยายกำลังผลิตของไทยพาราไซลีนในอนาคต แม้ว่าช่วงเวลานี้ยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสมในการลงทุน เนื่องจากกำลังการผลิตสารพาราไซลีน (PX) ยังล้นตลาดโลกจำนวนมากหลังจากจีนได้เปิดโรงงานปิโตรเคมีเพิ่มในปี 2563 และเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทําให้ความต้องการใช้สินค้าประเภทเส้นใยสําหรับเครื่องนุ่งห่มปรับลดลง ส่งผลให้ปี 2563 ราคาพาราไซลีนปรับตัวลดลง ขณะที่สารเบนซีน (BZ) ยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมาร์จิ้นดีอยู่ เหตุตลาดยังมีความต้องการอยู่ต่อเนื่อง
สำหรับวัตถุดิบทั้ง LPG และ Light naphtha นำมาต่อยอดสู่ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ ซึ่งไทยออยล์ยังไม่เคยมีการลงทุนในธุรกิจเลย ต่างจากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่มีโรงกลั่นน้ำมันที่ผลิตภัณฑ์ครึ่งหนึ่งถูกนำไปใช้ในการผลิตปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ ขณะที่โรงโอเลฟินส์ก็รับวัตถุดิบคือก๊าซอีเทนและโพรเพนจากโรงแยกก๊าซฯ ของ ปตท. รวมถึงแนฟทาด้วย ทำให้ PTTGC มีความยืดหยุ่นสูง
อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจรุกสู่ปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ หากมัวแต่รอให้โครงการ CFP เสร็จและลงทุนก่อสร้างโรงโอเลฟินส์เองเหมือนการลงทุนโครงการอื่นๆ ในอดีตก็คงไม่ทันการณ์เพราะต้องใช้เวลาร่วม 7 ปีกว่าโครงการเลฟินส์จะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้นไทยออยล์จึงมองข้ามช็อตโดยหาโอกาสการร่วมทุนโรงโอเลฟินส์ที่ดำเนินการอยู่แล้วในต่างประเทศแทน กล่าวคือ การหาพันธมิตร (Partnership) เพื่อที่จะได้ลงทุนแบบ fast track ทำให้ไทยออยล์เข้าสู่ธุรกิจของโอเลฟินส์ได้ทันที โดยใช้เงินลงทุนไม่มาก รับรู้รายได้ทันทีและร่นเวลาไปหลายปี โดยตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนโดยดูปัจจัยความต้องการใช้ปิโตรเคมีในประเทศนั้นๆ และไทยออยล์เองให้ความสนใจการต่อยอดธุรกิจขั้นปลายน้ำของโอเลฟินส์
ขณะที่ผลพลอยได้ทั้ง LPG และ Light Naphtha นั้นอาจป้อนให้โครงการโอเลฟินส์ที่ไทยออยล์ร่วมลงทุน หรือขายในตลาดก็ได้ ขึ้นกับเงื่อนไขในการเจรจา อย่างไรก็ดี บริษัทมองว่าช่วงนี้เป็นจังหวะที่เหมาะต่อการเจรจาร่วมทุนโอเลฟินส์ เพราะกำลังผลิตโอเลฟินส์เกินความต้องการใช้หลังจากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ขณะที่บางประเทศในอาเซียนยังต้องนำเข้าผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์อยู่ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซีย หรือเวียดนาม ดังนั้นบริษัทมีความมั่นใจว่าภายในปีนี้จะมีความชัดเจนในการหาพันธมิตร
วิรัตน์กล่าวย้ำว่า ได้มีการเจรจาหลายรายในหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่ลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงโอเลฟินส์และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อป้อนตลาดในประเทศเวียดนามเอง รวมไปถึงอีกหลายบริษัท ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะได้ข้อสรุป อย่างไรก็ดี สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้เงินทุนเพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงงานโอเลฟินส์น้อยกว่าปกติและอยากจะหาพาร์ตเนอร์มาเสริม จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะหรือกล่าวได้ว่าพลิกวิกฤตเป็นโอกาส
นอกจากการมองโอกาสการลงทุนโอเลฟินส์แล้ว ไทยออยล์ยังสนใจลงทุนธุรกิจขั้นปลาย (downstream) ของโอเลฟินส์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้มาร์จิ้นสูงสุด โดยบริษัทสนใจผลิตภัณฑ์เกรดพิเศษ (Specialty) หรือผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่ม แม้ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ตลาดเฉพาะกลุ่ม จำนวนผลิตไม่สูงมากแต่มีมาร์จิ้นที่ดี
ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายในการปรับพอร์ตกำไรจากธุรกิจให้สมดุลมากขึ้น โดยจะเป็นสัดส่วนของโรงกลั่นอยู่ที่ 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 15% และธุรกิจใหม่อีก 5% การกระจายการลงทุนไปธุรกิจปิโตรเคมี ไฟฟ้า และธุรกิจใหม่ช่วยให้ผลกำไรของไทยออยล์มีเสถียรภาพมากขึ้น ลดการพึ่งพาจากธุรกิจการกลั่นมากจนเกินไป ช่วยลดผลกระทบจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมันหากราคาน้ำมันปรับลดลงแรงและรวดเร็วเหมือนปี 2563 ที่ไทยออยล์ขาดทุนเกือบ 7.4 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ไปการลงทุนของไทยออยล์จะยังสูงอยู่ แต่ก็ไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากบริษัทมีกระแสเงินสดที่ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และมีศักยภาพในการกู้เงินเพื่อรองรับโอกาสขยายการลงทุนในอนาคต