กนอ.เผยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีพัฒนาไปแล้วกว่า 70% โดยเฉพาะระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมเปิด 3 คลังสินค้าให้เช่าบริการแล้ว เชื่อหลังโควิด-19 คลี่คลายและเปิดให้มีการเข้าออกประเทศได้ตามปกติจะเป็นสัญญาณบวกให้มีนักลงทุนเข้ามาชมพื้นที่และตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้น
นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายธีรยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่และประชุมติดตามความคืบหน้าการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่ง กนอ.ได้รายงานความคืบหน้าการพัฒนาเฟสแรกในส่วนของระบบในการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค พื้นที่กว่า 1,300 ไร่ เช่น การพัฒนาถนนและองค์ประกอบถนน งานระบบระบายน้ำฝน งานระบบน้ำเสีย ฯลฯ ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 75% ซึ่งตามแผนการกำหนดจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564
นอกจากนี้ยังรวมถึงการพัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ ปาร์ก (Logistics Park) พื้นที่ 600 ไร่ เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางรางและโลจิสติกส์ในภูมิภาค และยังเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่ม CLMV และจีนตอนใต้ รวมถึงการขนส่งทางรางไปยังท่าเรือแหลมฉบัง และพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ขณะเดียวกันในส่วนของการก่อสร้างอาคารคลังสินค้าให้เช่า ซึ่งอยู่ในแผนการพัฒนาระยะที่ 1 (2564-2565) ล่าสุดอาคารคลังสินค้าทั้ง 3 หลัง รวมพื้นที่ 23,160 ตารางเมตร พร้อมเปิดบริการให้เช่าแล้ว
“จุดเด่นโครงการฯ คือการอยู่ในทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดศูนย์กลางของกลุ่มอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง และจังหวัดอุดรธานีได้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Northeastern Economic Corridor-NeEC) นับเป็นโอกาสและศักยภาพที่ดีในการส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี จะได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคล 8 ปี และสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากรอื่นๆ ตามเกณฑ์ที่ตั้ง (Zone Based)” นางสาวสมจิณณ์กล่าว
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีตั้งอยู่ที่ตำบลโนนสูง อำเภอเมืองฯ จังหวัดอุดรธานี พื้นที่ประมาณ 2,170 ไร่ มูลค่าการลงทุนโครงการฯ ประมาณ 6,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกมี 1,325 ไร่ มีแผนพัฒนาพร้อมเปิดดำเนินการในปลายปี 2564 และเฟส 2 จำนวน 845 ไร่ ที่มีแผนจะพัฒนาในช่วงปี 2565-2567 โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายตามผังแม่บทการใช้ประโยชน์ที่ดินของนิคมฯ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมยางพาราขั้นปลาย อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ และประกอบรถยนต์ ฯลฯ
“เชื่อว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและเปิดประเทศให้มีการเข้าออกได้ตามปกติ จะมีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีมากขึ้น ซึ่งนิคมฯแห่งนี้ จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนในภูมิภาค ที่ทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในพื้นที่ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท และเกิดการจ้างงาน (ในนิคมฯ) ไม่ต่ำกว่า 20,000 คน และ 60,000 คน (นอกนิคมฯ) และมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นประมาณ 100 โรง ขณะเดียวกันจะสามารถสร้างรายได้ด้านภาษีอากรให้กับภาครัฐได้ถึงประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาทต่อปีอีกด้วย” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว