มิว สเปซ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในชั้น A1 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ประเภทกิจการผลิตหรือซ่อมอากาศยาน หรืออุปกรณ์เกี่ยวกับอากาศ โดยทางมิว สเปซ ได้ใช้การผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม ขนาดเล็กเพื่อยื่นขอการส่งเสริมแผนการลงทุน ด้วยเป้าหมายที่ต้องการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศอย่างจริงจัง แผนการลงทุนของมิว สเปซ จึงมุ่งเน้นไปที่ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ เครื่องจักร และการวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักในการลงทุนในเครื่องจักรของบริษัทฯ คือเพื่อใช้ในการผลิต ซึ่งรวมถึงวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น เครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer/Additive Manufacturing) เครื่องกัดซีเอ็นซี (CNC Machine) แขนกลเชื่อมโลหะ (Robotic Arms) ห้องคลีนรูม ระบบทดสอบการทรงตัว (Attitude Control Test Bed) ซึ่งจะประกอบไปด้วยระบบแบริ่งลม (Air Bearing) ระบบขดลวดเฮล์มโฮลทซ์ (Helmholtz Cage) และระบบการจําลองแสงอาทิตย์ (Sun Simulator) ส่วนการลงทุนเพื่อการวิจัยพัฒนา และออกแบบระบบวิศวกรรมดาวเทียมนั้นจุดประสงค์ คือ เพื่อสร้างและต่อยอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมและอวกาศ
นายเจมส์ วรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าวว่า การทำสิ่งใหม่ๆ ที่รวมทั้งเทคโนโลยีและศิลปะ ใช้ทั้งความรู้ทางวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และรากฐานทางความคิดที่ทีมมิว สเปซ ได้ลงมือปฏิบัติเองอย่างจริงจังจึงสามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้องค์กรชั้นนำต่างๆ ไว้วางใจร่วมงานและลงทุนกับมิว สเปซ
"มิว สเปซ มีคนรุ่นใหม่ที่มีขีดความสามารถสูง และยังได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยมีในอดีตจากอุตสาหกรรมหนัก เพราะไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ อีกทั้งยังมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่สำคัญอีกด้วย"
จากการลงมือทำอย่างจริงจังและแผนการลงทุน ทำให้มิว สเปซ ได้รับการอนุมัติสิทธิและประโยชน์ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี โดยไม่กำหนดวงเงิน ยกเว้นอากรนำเข้าเครื่องจักร ยกเว้น อากรขอนำเข้าเพื่อวิจัย ยกเว้นอากรวัตถุดิบผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ได้แก่ การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติม 5 ปี ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษีอีกด้วย
สิทธิและประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้มีส่วนช่วยในการดำเนินธุรกิจของมิว สเปซ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนที่ถูกลงทั้งในเรื่องการนำเข้าวัตถุดิบและการยกเว้นภาษี ความรู้ความสามารถที่เกิดขึ้น ศักยภาพที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อโอกาสในการเติบโตของบริษัทฯ นอกจากจะเป็นประโยชน์ทางด้านธุรกิจแล้ว การได้รับการสนับสนุนจากบีโอไอยังสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยอุตสาหกรรมอวกาศนั้นจะสามารถสร้างอาชีพโดยเฉพาะแรงงานทักษะสูง
"แผนของมิว สเปซภายในระยะเวลา 3-5 ปีจะมีการจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นเป็นหลัก 1,000 คน สร้างรายได้ที่สูงมากขึ้นให้แก่คนในแวดวงที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ สร้างการซื้อขายใน สังคม ซึ่งในที่สุดจะกลายเป็นระบบนิเวศธุรกิจของเทคโนโลยีขั้นสูง และเพิ่มความตื่นตัวมากขึ้นในเรื่องเทคโนโลยี"
กลุ่มลูกค้าหลักของมิว สเปซ คือ บริษัทเอกชน เช่น ผู้ให้บริการโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตภาครัฐ เช่น หน่วยงานเกี่ยวกับอวกาศและหน่วยงานความมั่นคง หรืออุตสาหกรรมหนัก และบริษัทการบินและอวกาศรายอื่นๆ โดยเมื่อเทียบกับในภูมิภาคถือว่าเป็นผู้บุกเบิก ใกล้เคียงกับฝั่งยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย และเชื่อว่าในอีก 3-5 ปี สิ่งที่ลงทุนไปจะเริ่มส่งผลสูงขึ้น
ปัจจุบัน ทีมมิว สเปซ กำลังเร่งพัฒนาดาวเทียมต้นแบบภายในโรงงาน อีกทั้งยังกำลังขยายการปฏิบัติการไปที่โรงงานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (ขนาด M) ซึ่งใหญ่กว่าเดิมถึง 10 เท่า สามารถรองรับการผลิตได้มากขึ้น โดยเร็วๆ นี้ทางบริษัทฯ จะเตรียมเปิดตัวดาวเทียมซึ่งได้พัฒนาเองจนสำเร็จในงานแสดงเทคโนโลยีของมิว สเปซ ซึ่งจะทำการทดสอบยิงขึ้นสู่ชั้นอวกาศ และสามารถให้บริการได้ภายในปี 2564 นี้