เมื่อความท้าทายของ 'บราเดอร์' ในปีที่ผ่านมาคือการที่สินค้าโดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด จนทำให้พลาดโอกาสที่จะคว้ากำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงที่เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมรับกับการแพร่ระบาดของโควิด-19
พอมาในปี 2564 นี้ เมื่อดีมานด์ของเครื่องพิมพ์ลดลงจากการที่หลายบริษัทเริ่มปรับนโยบายให้กลับไปทำงานในสำนักงานแล้ว พฤติกรรมผู้บริโภคก็เริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง โจทย์ใหญ่ของ 'บราเดอร์' ในปีนี้คือ การปรับตัวเพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที
ธีรวุธ ศุภพันธุ์ภิญโญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลถึงการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะจากสถานการณ์ของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้บราเดอร์ต้องเน้นเรื่องความเร็ว และความยืดหยุ่นในการทำตลาดมากยิ่งขึ้น
'เดิมบราเดอร์จะใช้กลยุทธ์อย่าง 3C ที่มุ่งมั่นให้ความสำคัญกับลูกค้า (Customer) ช่องทางจำหน่าย (Channel) และองค์กรธุรกิจ (Company) แต่ในปีนี้จะต้องเพิ่มเรื่องของความเร็ว (Speed) และความยืดหยุ่น (Resilience) เข้ามาเพิ่มเติม'
เหตุผลสำคัญที่ทางบราเดอร์ต้องเร่งความเร็วขึ้นมา เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมา ทุกภาคอุตสาหกรรมต่างเจอกับวิกฤต แต่กลายเป็นว่า บราเดอร์กลับได้รับโอกาสจากความต้องการใช้งานของเครื่องพิมพ์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วง Work from Home จนทำให้เครื่องพิมพ์ขนาดย่อมได้รับความนิยมเพราะนำไปใช้งานที่บ้านมากยิ่งขึ้น
เพียงแต่ว่าด้วยการที่มีโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก แน่นอนว่าเครื่องพิมพ์ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นเดียวกัน จึงทำให้ภาพรวมของตลาดพรินเตอร์ในปีที่ผ่านมามียอดจำหน่ายลดลงถึง 5% เพียงแต่ว่าบราเดอร์มียอดจัดส่งที่เพิ่มขึ้น จึงกลายเป็นว่าเติบโตมากกว่าตลาดในปีที่ผ่านมา
'ในปีนี้เมื่อหลายๆ บริษัทเริ่มกลับไปทำงานที่สำนักงาน ก็เกิดเทรนด์การใช้งานเครื่องพิมพ์ที่เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมที่จะลงทุนเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่เพื่อใช้งานแบบรวมศูนย์ กลายเป็นการลงทุนเครื่องพิมพ์ขนาดย่อมมากขึ้นเพื่อนำไปใช้งานในแต่ละส่วนของสำนักงาน เพื่อลดการสัมผัสต่างๆ ไปในตัว'
ปัจจุบัน บราเดอร์ถือเป็นผู้นำในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์เลเซอร์แบบมัลติฟังก์ชันด้วยส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 50% ในขณะที่เครื่องพิมพ์เลเซอร์แบบซิงเกิลฟังก์ชันจะมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ราว 30% หรือเป็นเบอร์ 2 ในตลาดนี้
'เป้าหมายของบราเดอร์ในตลาดประเทศไทยคือการขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่าย ทำให้ในปีนี้บราเดอร์ต้องมีการเร่งความเร็วในการปรับตัวเพื่อรับกับความต้องการของลูกค้าให้เพิ่มขึ้น'
โดยในปี 2564 ทางบราเดอร์คาดว่าตลาดเครื่องพิมพ์จะยังมีโอกาสเติบโตในทุกเซกเมนต์ และมีอีกกลุ่มสินค้าที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นคือ จักรเย็บผ้า ที่ในปี 2563 มียอดขายสูงขึ้นถึง 20% และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องในปีนี้ ดังนั้น เป้าหมายในปีนี้ของบราเดอร์จึงเน้นสร้างการเติบโตทั้งในส่วนของกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไป จนถึงการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างอาชีพเสริมเป็นงานอดิเรก จนถึงเครื่องมือในการสร้างธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็ก และการนำไปใช้ในกลุ่มธุรกิจเต็มรูปแบบ
ณเอก สงศิริ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายขายและการตลาด บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงกลยุทธ์ของบราเดอร์ในปีนี้ว่า จะเน้นที่ 3 ส่วนหลัก คือ การขยายธุรกิจ พัฒนาธุรกิจ และพัฒนาการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น
เริ่มจากการขยายธุรกิจ (Expansion) ใน 3 แนวทาง คือ 1.ขยายการทำตลาดไปยังกลุ่มธุรกิจ B2B โดยมุ่งเน้นในกลุ่มสุขภาพ ค้าปลีก โลจิสติกส์ และไฟแนนซ์เชียล 2.นำเสนอให้เห็นถึงประโยชน์ของสินค้าบราเดอร์อย่างในธุรกิจด้านการศึกษาที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน 3.การนำเสนอโซลูชันที่เหมาะสมกับลูกค้าให้ตอบโจทย์การนำไปใช้งานมากที่สุด
ถัดมาคือการพัฒนาธุรกิจ (Develop) ใน 3 ส่วนคือ 1.การเพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้วยการขยายช่องทางการขายใหม่ๆ ที่จะเน้นให้ความรู้ในการพัฒนาธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการบริหารช่องทางการขายระหว่างออฟไลน์และออนไลน์ 2.การนำศักยภาพของผลิตภัณฑ์มาพัฒนาเป็นโซลูชันนำเสนอสู่ตลาด อย่างการนำประสิทธิภาพของเครื่องพิมพ์ฉลาก P-Touch มาใช้ในการตรวจสอบทรัพย์สินผ่านซอฟต์แวร์ Trackmo 3.การพัฒนาโมเดลทางธุรกิจที่ส่งมอบบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า
สุดท้ายคือ การสื่อสาร (Communication) โดยทางบราเดอร์ต้องการพัฒนาศักยภาพในการสื่อสารให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายมากยิ่งขึ้น แสดงให้เห็นถึงความต้องการในการส่งมอบบริการ และให้ความสำคัญกับการรับฟังความต้องการของลูกค้า เพื่อนำมาปรับปรุงในทุกส่วนทั้งด้านการบริการ และการนำเสนอโซลูชันต่างๆ
'จะเห็นได้ว่ากลยุทธ์ของบราเดอร์ในปีนี้จะเน้นไปที่ความเร็วในการเปลี่ยนแปลงธุรกิจเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้อย่างยืดหยุ่นตามแนวทางที่จะเกิดขึ้นหลักในปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าถ้าดำเนินการตามกลยุทธ์นี้จะช่วยสร้างให้เกิดการเติบโตได้อย่างแน่นอน'
แต่ในขณะเดียวกัน ด้วยการที่มีธุรกิจหลักเป็นเครื่องพิมพ์ และจักรเย็บผ้า ที่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการบริการหลังการขาย โดยเฉพาะในส่วนของตลาดองค์กรธุรกิจ ทำให้บราเดอร์ต้องมีการลงทุนในส่วนของบริการหลังการขายเพิ่มเติมด้วย
น.ส.รัสสิญากร ตัณฑวณิชย์ รักษาการผู้จัดการทั่วไปฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท บราเดอร์ คอมเมอร์เชี่ยล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ในปีนี้บราเดอร์จะเพิ่มเติมในส่วนของบริการหลังการขายให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากพื้นฐานของ Brother Contact Center และศูนย์บริการที่ครอบคลุมทั่วประเทศกว่า 141 แห่ง
โดยในปีนี้จะมีการเพิ่มบริการหลังการขายเกี่ยวกับบริการ Manage Print Service (MPS) บริการจดมิเตอร์การใช้งานหรือการจัดส่งและเปลี่ยนวัสดุการพิมพ์ (Toner) บริการหลังการขายยังเพิ่มไปที่ไลน์สินค้าอื่นๆ อย่างชุดเครื่องเสียงคาราโอเกะ BMB และเครื่องพิมพ์ผ้าระบบดิจิทัลเพิ่มเติมด้วย
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา ทางบราเดอร์ได้ปรับรูปแบบการทำงานของ Contact Center ให้สามารถทำงานจากที่บ้านได้แบบ 100% และเร่งพัฒนาแพลตฟอร์ม Chatbot ที่ปรับปรุงให้มาใช้ Thai NLP (Thai Natural Language Processing) มาให้บริการเป็นบอทภาษาไทย ในชื่อ 'น้องแคร์' ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้