xs
xsm
sm
md
lg

กนอ.ชู 8 ด้านหนุนนิคมฯ-โรงงานสู่ Smart Eco ปี 64 เพิ่มอีก 6 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กนอ.หนุนนิคมฯ ท่าเรืออุตสาหกรรม และโรงงานก้าวสู่ Smart Eco ภายใต้เกณฑ์ 8 องค์ประกอบหลัก ปี 2564 หนุน 3 นิคมฯ 1 ท่าเรือ และ 2 โรงงานผ่านเกณฑ์ ตั้งเป้าให้การรับรองครอบคลุมครบทั้ง 8 Smart ภายในปี 2564

น.ส.สมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ปี 2564 กนอ.ได้ดำเนินโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม/ท่าเรืออุตสาหกรรม/โรงงานอุตสาหกรรม สู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศอัจฉริยะ หรือ Smart Eco ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้นโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 อุตสาหกรรม 4.0 ที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาบริหารจัดการ โดยปี 2564 ตั้งเป้าหมายยกระดับ 6 แห่งเพิ่มเติมจากที่ได้ดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ 12 แห่ง

สำหรับเกณฑ์การเป็น Smart Eco ต้องมีองค์ประกอบ 8 ด้าน ได้แก่ 1) Smart Environment Surveillance ระบบเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยอัจฉริยะ 2) Smart Water ระบบการจัดการน้ำอัจฉริยะ 3) Smart Energy ระบบการจัดการพลังงานอัจฉริยะ 4) Smart Waste ระบบการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ 5) Smart Safety/Emergency ระบบป้องกันด้านความปลอดภัยอัจฉริยะ 6) Smart Logistic ระบบขนส่งอัจฉริยะ 7) Smart IT ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะ และ 8) Smart Building อาคารอัจฉริยะ (สำหรับนิคมอุตสาหกรรม) หรือ Smart Resource/Process กระบวนการผลิตอัจฉริยะ (สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม)

“กนอ.ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวตั้งแต่ปี 2561 และต่อมาได้มีการตรวจประเมินผลในปี 2562 มีนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรืออุตสาหกรรมได้รับการรับรองการเป็น Smart Eco 5 แห่ง และโรงงานในนิคมฯ จำนวน 7 แห่ง อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ได้หยุดดำเนินการเพราะติดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ปีนี้จึงมาดำเนินการต่อเป็นปีที่ 3 โดยจะพัฒนานำร่อง 3 นิคมอุตสาหกรรม 1 ท่าเรือ และ 2 โรงงาน เพื่อเป็น Smart Eco โดยปี 2564 คาดว่าจะสามารถให้การรับรองครอบคลุมครบทั้ง 8 Smart” ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว

สำหรับเป้าหมายปี 2564 ที่นำร่องสู่การเป็น Smart Eco ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมหนองแค ได้นำ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอัจฉริยะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ตรวจวัดและควบคุมการทำงานของเครื่องจักร ตรวจสอบสถานะและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ แบบ Real-time, นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์น ซีบอร์ด นำระบบที่มีการใช้งานด้าน Smart Logistic (ระบบขนส่งอัจฉริยะ) โดยพัฒนาระบบกล้อง CCTV ให้สามารถประมวลผลได้แบบ Real time เพื่อเชื่อมต่อข้อมูลการจราจรบริเวณนิคมฯ ไปยัง Mobile Application ของผู้ประกอบการและประชาชน และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดได้นำระบบที่มีการใช้งานด้าน Smart Building (การพัฒนาอาคารอัจฉริยะ) เป็นการบริหารจัดการพลังงาน โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัด (Sensor) ที่อุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร

นอกจากนี้ ยังมีโรงงานอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมที่นำระบบการใช้งานด้านการจัดการสิ่งปฏิกูล หรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วอัจฉริยะ (Smart Waste) อีก 2 แห่ง โดยทั้ง 2 โรงงานนี้ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลของเสียและแผนผังการไหลของเสีย เพื่อคาดการณ์ปริมาณของเสียประเภทต่างๆ และสร้างเครือข่ายทางธุรกิจในการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในรูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น