กทพ.ทบทวนผลศึกษาทางด่วน N1 ใหม่ หลัง ม.เกษตรฯ ปิดประตูเจรจาไม่รับทั้ง 2 ทางเลือก “อุโมงค์&ทางยกระดับ” คาดใช้เวลาอีก 1 ปี สรุปได้ ดันเดินหน้า ตอน N2 ก่อน เร่งชง ครม.เปิดประมูลในปีนี้
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 ซึ่งทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ยังไม่ยอมรับแนวทางและรูปแบบการก่อสร้าง ช่วงผ่าน ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่ง กทพ.ได้นำเสนอรูปแบบก่อสร้างเป็นทางด่วนยกระดับ และรูปแบบอุโมงค์ทางด่วน ดังนั้น ในเร็วๆ นี้ กทพ.จะมีการจ้างบริษัทที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ ทำการศึกษาข้อดีและข้อเสียของแต่ละทางเลือกอีกครั้ง ใช้เวลาประมาณ 1 ปี โดยจะมีการทบทวนผลการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) มูลค่าโครงการ ประมาณ 6 เดือน และออกแบบรายละเอียดอีก 6 เดือน
เมื่อได้การศึกษาที่อัปเดตใหม่ รวมถึงข้อดี ข้อเสีย มาตรการในการก่อสร้างและดำเนินการในแต่ละทางเลือกรวมถึงผลประโยชน์ของโครงการแล้ว กทพ.ก็จะนำไปหารือเจรจากับทาง ม.เกษตรฯ อีกครั้ง
ส่วนตอน N2 และ E-W Corridor จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. ซึ่งวงเงินลงทุน ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทนั้น มีความพร้อมจะดำเนินการก่อน โดยอยู่ระหว่างเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ขออนุมัติดำเนินการ จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งจะสามารถเปิดประมูลได้ภายในปี 2564
“กทพ.จะเร่งดำเนินการในตอน N2 ก่อน เพราะไม่มีปัญหาติดขัด นอกจากนี้จะต้องเร่งใช้เงินจากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ในการก่อสร้าง อีกด้วย”