xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้นฟู ขสมก.ติดปม PSO กว่า 9 พันล้าน “ศักดิ์สยาม” ตั้งอดีตปลัดคมนาคมช่วย หลังคลังติงไม่เข้าเกณฑ์อุดหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” ตั้ง “ชัยวัฒน์” อดีตปลัดคมนาคม ช่วยเคลียร์เงิน PSO กว่า 9.6 พันล้านฟื้นฟู ขสมก.ยุติใน 1 เดือนหลังคลังชี้วัตถุประสงค์ไม่เข้าข่ายอุดหนุน ส่วนปฏิรูป 162 เส้นทาง และค่าตั๋วเหมา 30 บาท/วัน เคลียร์แล้ว คาด พ.ค.ชงสภาพัฒน์และ คนร.ก่อนเข้า ครม. ชี้ยิ่งช้าหนี้ยิ่งเพิ่ม ล่าสุดมีกว่า 1.3 แสนล้าน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการขนส่งทางบก ครั้งที่ 1/2564 ว่า ได้พิจารณาแนวทางการปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่องและติดตามความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ซึ่งรับทราบการปรับโครงข่ายเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง จำนวน 162 เส้นทาง แบ่งเป็น ขสมก.108 เส้นทาง เอกชน 54 เส้นทาง เพื่อให้เป็น Single Network

นอกจากนี้ จะมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาใช้ในการประเมินการให้บริการในแต่ละเส้นทาง เพื่อจัดสรรจำนวนรถ และความถี่ในการปล่อยรถให้สอดคล้องและเพียงพอต่อปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงระบบตั๋ว E-Ticket จะเป็นข้อมูลที่ช่วยให้เห็นถึงจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการในแต่ละคันแต่ละเส้นทาง โดยระบบการเดินรถหลังจากนี้จะมีคณะกรรมการกำกับดูแลการบริหารจัดการรถ จะไม่มีระบบการล็อกหมายเลขรถกับเส้นทางเหมือนเดิม เพื่อให้สามารถโยกรถไปมาในแต่ละเส้นทางได้อย่างรวดเร็ว

“ระบบ AI และตั๋ว E-Ticket จะประเมินผลรถแต่ละคันในแต่ละเส้นทาง ว่ามีรถวิ่งจำนวนเท่าไรในเวลานั้นๆ แล้วมีจำนวนผู้โดยสารในเวลานั้นอย่างไร และไม่แออัดในแต่ละคัน โดยคณะกรรมการกำกับดูแลฯ ดูข้อมูลและปล่อยรถ จุดใดรถขาดจะโยกจุดที่เกินความต้องการไปวิ่งเสริม เพื่อให้เกิดความสมดุลกับปริมาณผู้โดยสาร หลักการคือ ต้องไม่ให้ขาด ไม่ให้เกิน ส่วนประเด็นเรื่องอัตราค่าโดยสาร 30 บาทต่อคน/วัน ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ซึ่ง ขสมก.ได้มีการศึกษาอัตราราคาตามระยะทาง ในกรณีที่เดินทางน้อยและไม่ต้องการใช้ตั๋วเหมา 30 บาท เพื่อเป็นทางเลือก ซึ่งจะต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนต่อไป”

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กรณีที่ ขสมก.ขอรับเงินสนับสนุน (PSO) ในแผนฟื้นฟู ระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2571 รวมเป็นเงินประมาณ 9,674 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังยังมีคำถาม เพราะเห็นว่ากรณีเงิน PSO รัฐจะดำเนินการอุดหนุนได้ก็ต่อเมื่อมีการจำกัดราคาค่าโดยสารที่ถูกเพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งที่ผ่านมามีการจำกัดค่าโดยสารจนทำให้ ขสมก.ขาดทุน แต่แผนฟื้นฟูที่ ขสมก.เสนอครั้งนี้ไม่ใช่การจำกัดราคาเพื่อช่วยประชาชน แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านตามแผนปฏิรูปเป็นเวลา 7 ปี ซึ่งสาเหตุที่ยังต้องขอรับ PSO เนื่องจาก ขสมก.ยังมีเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานที่จะทยอยเกษียณอายุ และจัดทำโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งพนักงานในระบบการจ้างเดิมมีอัตราค่าจ้างที่สูง ตามระบบที่มีการปรับค่าตอบแทนเพิ่มทุกปี ส่วนหลังจากนี้แผนการรับพนักงานใหม่จะเป็นรูปแบบของเอาต์ซอร์ส ซึ่งสภาพการจ้างจะมีอัตราค่าใช้จ่ายที่คงที่กว่า

ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะทำงาน โดยมี นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อพิจารณาเรื่อง PSO ในแผนฟื้นฟู ขสมก.ในประเด็นที่กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ กฤษฎีกา สำนักงบประมาณได้ตั้งข้อสังเกตทั้งหมด ให้ได้ข้อยุติภายใน 1 เดือน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือน พ.ค. จากนั้น ขสมก.จะสรุปเพื่อเสนอไปยังสภาพัฒน์และคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

“ขสมก.กับกรมการขนส่งทางบกจะต้องไปดูว่าเรื่องขออุดหนุน 9 พันกว่าล้านบาทจะพูดเป็นเรื่องอะไร หากไม่ใช่เรื่อง PSO ส่วนหลักการของแผนฟื้นฟู ขสมก.โดยรวมเห็นชอบตรงกันหมดแล้ว ไม่อยากให้ล่าช้าไปกว่านี้ เพราะยิ่งช้าเงินอุดหนุนอาจจะลดลงบ้างเพราะพนักงานจะทยอยเกษียณไปเอง แต่อย่าลืมว่า ขสมก.ยังประสบกับการขาดทุนทุกเดือน เดือนละ 300 กว่าล้านบาท หรือปีละ 4,000 กว่าล้านบาท ยิ่งช้าภาระขาดทุนจะเพิ่มขึ้นเป็นดินพอกหางหมู” นายศักดิ์สยามกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. 2562 ขสมก.มีภาระหนี้สินสะสมรวมจำนวน 127,786 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้พันธบัตร วงเงิน 64,339 ล้านบาท และหนี้เงินกู้ 63,446 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดหนี้สะสม เพิ่มขึ้นมากกว่า 130,000 ล้านบาทแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น