“ศักดิ์สยาม” เซ็นแบ่งงาน ให้ “วีรศักดิ์” คุม 4 หน่วย ด้านอากาศและกรมขนส่งฯ โดยสลับงานของ บวท.มากำกับเอง ชี้เป็นไปตามความหมาะสม รวมถึงต้องเร่งบริหาร Slot การบินใหม่ แก้ปัญหามี Slot แต่ไม่มีการบินจริง ซึ่ง บวท.ต้องทำงานคู่กับ กพท. ส่วน “อธิรัฐ” ดู 2 หน่วยงานทางน้ำเหมือนเดิม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2564 ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 183/2564 เรื่องมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยมอบอำนาจให้นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแล 2 หน่วยงาน ได้แก่ กรมเจ้าท่า (จท.) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานเดิมที่นายอธิรัฐกำกับดูแล
ส่วนนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบอำนาจให้กำกับดูแล 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กรมท่าอากาศยาน (ทย.) สถาบันการบินพลเรือ (สบพ.) และบริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด และมอบหมายให้ดูงานตอบกระทู้ถามในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งการมอบหมายหน่วยงานให้ รมช.คมนาคมกำกับดูแล เป็นไปตามความเหมาะสม และภาพรวมการกำกับดูแลทุกหน่วยงานจะต้องอยู่ที่ตนในฐานะ รมว.คมนาคมอยู่แล้ว
ส่วนเหตุผลที่ตนกำกับดึงบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) มากำกับดูแลเอง นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ต้องการดูแลเรื่องการบริหารจัดการด้านเวลาการบิน (Slot) ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง บวท.และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT จะต้องทำงานคู่กัน ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายนายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ไปเร่งพิจารณาบริหารจัดการ Slot โดยเรียกสายการบินมาประชุมหารือกรณีที่สายการบินได้รับ Slot ไปแล้วไม่ได้ทำการบินจริง จะต้องมีการกำหนดกติกาและมีการพิจารณาเพื่อเรียก Slot คืนกลับมาบริหารจัดการใหม่ การกำหนด Slot การบิน กำหนดเป็น Season สามารถยืดหยุ่นและปรับได้ และให้พิจารณา Slot เผื่อสำหรับ เที่ยวบินเช่าเหมาลำดัวย เพื่อให้สามารถทำการบินตรงไปยังจุดหมายปลายทางได้ไม่ต้องแวะ Transit
สำหรับหน่วยงานที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำกับดูแลโดยตรง ประกอบด้วย กรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมการขนส่งทางราง (ขร.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และบริษัทท่าอากาศยานไทยจำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.)
รายงานข่าวแจ้งว่า ในคำสั่งกระทรวงคมนาคมที่ 183/2564 เรื่องมอบอำนาจให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยให้รัฐมนตรีช่วยฯ มีอำนาจในการกำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทนโดยทั่วไป ยกเว้น การบริหารงานบุคคล การอนุมัติงบประมาณ การอนุมัติ การอนุญาต การออกใบอนุญาตใดๆ ที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรี สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
ซึ่งในการกำกับดูแล และปฏิบัติราชการแทนโดยทั่วไป ยกเว้นการบริหารงานบุคคล การอนุมัติงบประมาณ การอนุมัติ การอนุญาต การออกใบอนุญาตใดๆ ที่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใด หรือมติของคณะรัฐมนตรี อันอยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้แก่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้ โดยทำเป็นหนังสือ บรรดาเอกสารใดๆ ซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้สั่งหรือลงนามในฐานะผู้ปฏิบัติราชการแทน ให้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อทราบในโอกาสแรก
ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาเห็นว่า เรื่องใดเป็นเรื่องนโยบายของรัฐบาลหรือมีผลกระทบต่อนโยบายของรัฐบาล หรือผลประโยชน์ของประเทศชาติ หรือเรื่องที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความไม่ยุติธรรมแก่ประชาชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สามารถสั่งการในเรื่องนั้นโดยตรง
ในกรณีที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ อำนาจในการกำกับดูแลและปฏิบัติราชการแทนให้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งที่ได้รับมอบอำนาจนี้ ให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมยึดมั่นใน ระเบียบ กฎหมาย และหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 นอกจากนี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 รวมทั้งหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด