กระแสยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเป็นเทรนด์ของโลกเพราะเข้ามาตอบโจทย์เทคโนโลยีที่ลดภาวะโลกร้อนและคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างรวดเร็วหลังจากที่ประเทศต่างๆ หันมาส่งเสริมการใช้มากขึ้นโดยเฉพาะจีน สหรัฐอเมริกา จากแนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) เมื่อ 24 มีนาคม 2564 ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้เห็นชอบปรับเป้าหมายการใช้และการผลิตรถอีวีของไทยใหม่อีกครั้งพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลกหรือศูนย์กลางของภูมิภาค (ฮับ)
สำหรับสาระสำคัญของมติที่ประชุมได้กำหนดเป้าหมายการใช้ EV รวมทุกประเภทในปี 2568 ไว้ที่ 1,055,000 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 402,000 คัน รถจักรยานยนต์ 622,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็น 15,580,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 6,400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 8,750,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 430,000 คัน
นอกจากนี้ยังวางเป้าหมายการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศในปี 2568 จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,051,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 400,000 คัน รถจักรยานยนต์ 620,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 31,000 คัน และในปี 2578 ให้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนรวม 18,413,000 คัน แบ่งเป็นรถยนต์/รถปิกอัพ 8,625,000 คัน รถจักรยานยนต์ 9,330,000 คัน และรถบัส/รถบรรทุก 458,000 คัน
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้วางมาตรการในการขับเคลื่อนไว้ 2 ระยะ ได้แก่ 1. มาตรการกระตุ้นการใช้รถ EV ระยะเร่งด่วน มุ่งส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั้งประเภทสองล้อ สามล้อ และสี่ล้อไฟฟ้า โดยวางแผนจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานแบตเตอรี่และการบริหารจัดการซากแบตเตอรี่ที่เกิดจากการใช้งานภายในประเทศอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมาตรการเหล่านี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษารายละเอียดเพื่อนำผลสรุปมาปรับใช้ให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่อไป
2. มาตรการกระตุ้นระยะ 1-5 ปี ดำเนินการส่งเสริมการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต การเตรียมการด้านการบริหารจัดการซากรถยนต์แบตเตอรี่ที่ใช้แล้ว โดยคำนึงถึงความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมเป็นหลักตามมาตรฐานสากล พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (EcoSystem) เพื่อส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาด เป็นต้น
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนดังกล่าวให้เป็นไปตามเป้าหมายบอร์ด EV ยังได้พิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติขึ้น ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน 2. คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า
3. คณะอนุกรรมการประเมินผลกระทบด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเรือนกระจกจากการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า และ 4. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้การส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าดำเนินนโยบายไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล รวมทั้งเกิดการบูรณาการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
ห นุนเป้าใหม่วางตำแหน่งไทยชัดเจน
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT)กล่าวว่า บอร์ดอีวีได้มีการปรับเป้าหมายใหม่ที่ต่างจากเดิมเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโลกที่กำลังมุ่งไปสู่ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยเป้าหมายเดิมที่วางไว้กำหนดในปี ค.ศ. 2030 (ปี พ.ศ. 2573) ไทยจะผลิตยานยนต์ไฟฟ้ารวม 30% ของการผลิตทั้งหมด แต่ของใหม่ได้กำหนดใน 2 รูปแบบได้แก่ 1. เป้าหมายการผลิตกำหนดปี 2573 เป็นการผลิตยานยนต์พลังงานสะอาดที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle : ZEV) 30% ของการผลิตรถรวมปี 2573 และในปี 2578 กำหนดเป้าการผลิต ZEV จะมีสัดส่วน 50% โดยเน้นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะ 2. เป้าหมายการใช้ที่เพิ่งกำหนดปี 2573 จะมียอดการจดทะเบียนรถใหม่ที่เป็น ZEV 50% และในปี 2578 ยอดจดทะเบียนรถใหม่จะเป็น ZEV 100%
“หลายทศวรรษที่ผ่านมาเราเป็นผู้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE ) และปัจจุบันการผลิตเพื่อส่งออก 50% และผลิตเพื่อใช้ในประเทศ 50% ขณะที่ทั่วโลกเองส่วนใหญ่จะแบนรถ ICE ในปี 2573 เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น ในปี 2578 ดังนั้น ตลาดส่งออกไทยอาจจะหายไปก็จะกระทบการผลิตหายไปด้วยเช่นกัน จึงเป็นการปรับเปลี่ยนให้ทันกับเทรนด์ของโลกที่จะเกิดขึ้น แต่อีก 14 ปีเราก็ยังคงมีการผลิต ICE 50% ก็มองตลาดเพื่อนบ้านที่ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรไว้ด้วยเช่นกัน และการมีคณะทำงาน 4 คณะที่จะขับเคลื่อนก็จะทำให้ภาพของไทยชัดเจนมากขึ้น” นายกฤษฎากล่าว
จับตาลงทุนสถานีชาร์จเพิ่ม
จากสถิติของสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV Charger ปัจจุบันกว่า 1,900 หัวจ่าย หรือคิดเป็น 667 พื้นที่ (Location) ซึ่งหากเทียบกับปริมาณรถ EV รวมทุกประเภทปัจจุบันอยู่ที่ 5,600 คันก็ถือว่าเพียงพอ แต่ในอนาคตหากจะก้าวไปสู่เป้าหมายจำนวนสถานีฯ จะต้องมีเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะไม่ใช่ปัญหาเพราะเอกชนพร้อมที่จะลงทุนเพิ่ม โดยมีการประเมินว่า EV 1 ล้านคันควรจะมีสถานีชาร์จ 1 แสนแห่ง หรือคิดเป็น 10 ต่อ 1
แนะระยะสั้นต้องหนุนการใช้
ปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการส่งเสริมการผลิตรถ EV เบื้องต้นว่าด้วยการลดภาษีสรรพสามิตให้แล้ว แต่ในส่วนของผู้ใช้เองยังไม่มี ดังนั้นระยะสั้นเห็นว่ามีความจำเป็นที่รัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนผู้ใช้ EV อาทิ การลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้ (ดีมานด์)
ส.อ.ท.ชี้กลไกตลาดปัจจัยชี้วัด
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า กรอบเป้าหมายที่วางไว้เป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมการ 4 ชุดที่บอร์ดอีวีแต่งตั้งล่าสุดจะกลับมาพิจารณาแนวทางในการขับเคลื่อนจะต้องไปหารือและกำหนดแนวทางที่เบื้องต้นทราบว่าจะมีการสรุปรายละเอียดในการนำกลับไปเสนอบอร์ดอีวีอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมนี้
“หากถามว่าเป้าหมายที่กำหนดเร็วหรือช้าไปคงตอบยาก เพราะที่สุดแล้วอยู่ที่กลไกตลาดเป็นสิ่งสำคัญเพราะยังไม่มีใครเดาได้ว่าท้ายสุด EV จะมาเร็วระดับไหน แต่ละประเทศที่ตั้งเป้าหมายไว้สุดท้ายใช่หรือไม่ และกลไกตลาดจะเร็วจะอยู่ที่ 2 ปัจจัยสำคัญ คือ 1. ราคา EV ถูกลงมากๆ 2. โครงสร้างพื้นฐานต่างๆรองรับได้หมดโดยเฉพาะสถานีชาร์จ” นายสุรพงษ์กล่าว
ปัจจุบันไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน แต่เป็นการผลิตรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลขณะนี้หากเมื่อการผลิตก้าวไปสู่สัดส่วน ZEV สู่ระดับ 50% ของการผลิตทั้งหมด ส่วนที่เหลือซึ่งเป็นรถ ICE อาจทำให้ต้นทุนภาพรวมแพงไปหรือไม่ก็ยังคงไม่แน่ใจนักกับภาพเหล่านี้ ขณะเดียวกัน ไทยเองมีรถกระบะเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยน ไทยส่งออกไปพอสมควร ระหว่างทางก็ยังไม่แน่ใจว่าเทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ EV ได้หรือไม่ เพราะมีบางประเทศก็กำลังพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ เช่นเดียวกับตลาดส่งออกที่ขณะนี้ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียก็ต้องดูว่าแนวโน้มจะก้าวไปสู่ EV มากน้อยเพียงใด เหล่านี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิด และท้ายสุดก็ต้องอิงกลไกตลาดเป็นสำคัญ
EV ดึงโซลาร์-แบตเตอรี่โตตาม
นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ กล่าวว่า การมาของ EV จะมีส่วนสำคัญในการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และไฟฟ้าที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของพลังงานสะอาด และมีราคาถูกจะหนีไม่พ้นพลังงานทดแทน ซึ่งคำตอบที่ดีสุดและเทรนด์กำลังมาคือพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) +EV ที่จะโตคู่ขนานกันไป
“EV เป็นเทคโนโลยีที่มาตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม หากการใช้ไฟเพิ่มแล้วไปหนุนการใช้ฟอสซิลคงไม่ใช่คำตอบแน่นอน ดังนั้น แนวโน้มก็จะเป็นพลังงานหมุนเวียนและไฟที่ได้จะต้องถูกลงหรือได้ใช้ไฟฟรีและคำตอบขณะนี้คือ โซลาร์รูฟท็อป และหากต้องการเสถียรภาพก็ต้องบวกกับแบตเตอรี่ด้วย ภาพนี้ก็จะเห็นในบ้าน และสถานีชาร์จบางแห่งและคิดว่าจะเป็นเทรนด์ที่มาคู่กัน” นายพลกฤตกล่าว
ทั้งนี้ เทรนด์โซลาร์ฯ ยังคงมาต่อเนื่อง และการไปขัดขวางไม่ให้เติบโตคงเป็นไปได้ยากแล้วเพราะแนวโน้มทั่วโลกกำลังมุ่งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดภาวะโลกร้อน และบางประเทศเริ่มมีมาตรการกีดกันทางการค้า เช่น สภายุโรปรับรองข้อมติเกี่ยวกับมาตรการ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ซึ่งเป็นมาตรการเก็บภาษีคาร์บอนต่อสินค้านำเข้าจากประเทศที่มีมาตรฐานการลดปริมาณคาร์บอนที่ต่ำกว่าอียู เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทในอียูย้ายฐานการผลิตออกไปยังประเทศที่มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่าและส่งสินค้ากลับเข้ามาขาย เป็นต้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้ย่อมทำให้การใช้พลังงานสะอาดมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว และแน่นอนว่าโซลาร์ฯ ย่อมเป็นคำตอบแรกๆ
“โซลาร์ฯ ยังคงมีแนวโน้มที่ทำให้ค่าไฟภาพรวมถูกลงต่อเนื่องและคุ้มทุนได้เร็วเมื่อติดตั้ง ด้วยเพราะมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างไม่หยุดยั้ง และขณะนี้แผงโซลาร์กำลังเปลี่ยนรุ่นที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีขนาดพื้นที่เล็กลงแต่ให้ไฟฟ้าที่สูง” นายพลกฤตกล่าว
เทรนด์ EV ทั่วโลกต่างก็วางเป้าหมายเพื่อเดินไปสู่แนวทางลดโลกร้อน ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้ทุกส่วนจำเป็นต้องปรับตัว และการวางเป้าหมายของไทยที่ชัดเจนขึ้นนับเป็นการส่งสัญญาณที่ดีให้ทุกฝ่ายได้ปรับตัว