รฟท.เซ็น 3 สัญญาก่อสร้างไฮสปีดไทย-จีน วงเงิน 2.7 หมื่นล้าน “ศักดิ์สยาม” สั่งเร่งเคลียร์พื้นที่ส่งมอบใน 2 เดือน ขณะที่เหลืออีก 4 สัญญาติดปัญหาอุทธรณ์ และทับซ้อนกับ “ไฮสปีด 3 สนามบิน” เผยโยธาเสร็จปลายปี 69 อาจขยับเปิดบริการต้นปี 70 ส่วนช่วงนครราชสีมา-หนองคายออกแบบเสร็จ ก.ค.นี้ ขณะที่สัญญา 4-2 “ดอนเมือง-นวนคร” ส่อล้มประมูลใหม่หลังรับเหมาฟันราคาต่ำไปจนไม่เข้าทำสัญญา
วันนี้ (29 มี.ค.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับบริษัทผู้รับเหมา จำนวน 3 สัญญา ว่า การก่อสร้างงานโยธาทั้ง 3 สัญญามีระยะทางรวม 54.6 กม. มีวงเงินก่อสร้างรวม 27,527,350,469.37 บาท (2.75 หมื่นล้านบาท) โดยมีระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน ได้แก่ สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย และสัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ตามแผนงานการก่อสร้างงานโยธาทั้ง 3 สัญญาจะทยอยแล้วเสร็จในปี 2569-2570 ตามแผนงานจะเปิดให้บริการช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ในปลายปี 2569 หรืออย่างช้าภายในปี 2570
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 606.4 กม. โดยระยะแรกเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท งานโยธาแบ่งเป็น 14 สัญญา ภาพรวมการก่อสร้างยังเป็นไปตามแผนงาน โดยได้ลงนามสัญญาก่อสร้างแล้ว 10 สัญญา เหลืออีก 4 สัญญาที่เหลืออยู่ในขั้นตอนดำเนินการ ซึ่งจะเร่งรัดให้ประมูลและเซ็นสัญญาให้เสร็จภายในปีนี้ โดยสัญญาที่มีข้อพิพาททางกฎหมาย ได้กำชับให้ รฟท.จะดำเนินการตามระเบียบ ซึ่ง รฟท.คาดว่าออกหนังสือให้เริ่มงาน (NTP) เพื่อส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างสัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ และสัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ได้ภายใน 2 เดือน ส่วนสัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อยจะต้องรอ พ.ร.ฎ.เวนคืน ซึ่งจะต้องเสนอ ครม.อนุมัติก่อน
สำหรับสัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะทาง 21.8 กม. ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วย บจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร เป็นผู้ชนะประมูลในวงเงิน 8,626.8 ล้านบาท แต่เอกชนไม่ยืนราคา ทำให้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า รฟท.กำลังพิจารณาเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายและมติ ครม. ส่วนช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง (สัญญา 4-1) ซึ่งเป็นช่วงทับซ้อนกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) นั้น ซึ่งแผนส่งมอบพื้นที่ให้ทางรถไฟเชื่อม 3 สนามบินยังเป็นไปตามเป้าหมาย ไม่น่ามีปัญหา และทราบว่าทางกลุ่มซีพีที่เป็นคู่สัญญาที่จะดำเนินการตามแผนงาน
ส่วนความคืบหน้าเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356.10 กม.นั้นอยู่ระหว่างการออกแบบ ซึ่งได้ให้นโยบาย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้หลีกเลี่ยงการตัดเส้นทางผ่านชุมชนหรือให้มีผลกระทบต่อชุมชนน้อยที่สุด และทำให้เกิดการกระจายการพัฒนา และเชื่อมเข้าสู่สถานีโดยใช้ระบบฟีดเดอร์ ซึ่งจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือน ก.ค. 2564 คาดว่าจะเปิดให้บริการถึงหนองคาย
การพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย) ถือเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในการเชื่อมไทยสู่โลกไปทางด้านเหนือ โดยเริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นศูนย์กลางของระบบราง ขณะที่ในอนาคตมีแผนพัฒนาเส้นทางไปยังภาคใต้เชื่อมโยงไปยังประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยมีโครงการแลนด์บริดจ์เป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญระหว่างอ่าวไทยกับอันดามัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ ทางราง ทางบก ทางน้ำ เชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าภายในประเทศและเชื่อมโยงภูมิภาคได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ด้าน นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า งานโยธา 14 สัญญา ขณะนี้ ก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 สัญญา คือ ช่วงกลางดง-ปางอโศก 3.5 กม. วงเงิน 362.52 ล้านบาท อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 สัญญา ได้แก่ สัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริงเป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 3,114.98 ล้านบาท คืบหน้า 60%
สัญญาที่ 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. ของ บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ วงเงิน 4,279 ล้านบาท จะออก NTP ให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างในเดือน เม.ย. 64, สัญญา 3-3 ช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 21.6 กม. วงเงิน 9,838 ล้านบาท มี บจ.กรุงธนเอ็นยิเนียร์ ก่อสร้าง, สัญญา 3-4 ช่วงลำตะคอง-สีคิ้ว และช่วงกุดจิก-โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. วงเงิน 9,848 ล้านบาท มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก่อสร้าง, สัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม. วงเงิน 7,750 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า SPTK (นภาก่อสร้าง ร่วมกับรับเหมาประเทศมาเลเซีย), สัญญา 4-7 ช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. วงเงิน 8,560 ล้านบาท มี บจ.ซีวิลเอ็นจีเนียริงก่อสร้าง ได้เริ่มทยอยออก NTP ให้เข้าพื้นที่ก่อสร้างตั้งแต่ ม.ค.-2564
สำหรับ 3 สัญญาที่ลงนามวันนี้ ได้แก่ สัญญา 4-3 งานโยธา ช่วงนวนคร-บ้านโพ ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟเป็นทางยกระดับ 23 กม. งานก่อสร้างทางวิ่งเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายรางและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ มีบริษัท เอ.เอสแอสโซศซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด ก่อสร้าง วงเงิน 11,525,350,500 บาท
สัญญา 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ประกอบด้วย ทางรถไฟระดับพื้นในศูนย์ซ่อมบำรุง งานอาคารภายในศูนย์ซ่อมบำรุงรวมถนนต่อเชื่อม ได้แก่ อาคารระบบซ่อมบำรุงขบวนรถไฟ 19 อาคาร อาคารควบคุมระบบการจัดการเดินรถและฝึกอบรม 4 อาคาร อาคารสำหรับระบบซ่อมบำรุงทาง 8 อาคาร งานก่อสร้างถนน งานระบบระบายน้ำ และงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก่อสร้าง วงเงิน 6,573,000,000 บาท
สัญญา 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ประกอบด้วย งานโครงสร้างทางรถไฟ ระยะทางรวม 31.60 กม. แบ่งเป็น คันทางระดับดิน 7.02 กม. และทางยกระดับ 24.58 กม. งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า 7 แห่ง รวมทั้งงานรื้อย้ายสถานีเดิม งานปรับปรุงย้ายถนนเดิม งานก่อสร้าง สะพานข้ามทางรถไฟ งานระบบระบายน้ำ และงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ มี บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ก่อสร้าง วงเงิน 9,428,999,969.37 บาท
@รับเหมาฟันราคาสัญญา 4-2 ส่อล้มประมูลใหม่
รายงานข่าวแจ้งว่า สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ซึ่งกลุ่มกิจการร่วมค้า SPTK ประกอบด้วย บจ.ซิโนไฮโดร, บจ.สหการวิศวกร และ บจ.ทิพากร เป็นผู้ชนะประมูลวงเงิน 8,626.8 ล้านบาท ขณะที่ราคากลาง 10,917 ล้านบาท หรือต่ำกว่าราคากลางมากถึง 26.55% ซึ่งการที่เอกชนไม่ยืนราคา รฟท.จะพิจารณาใน 2 แนวทาง คือ 1. ยกเลิกประมูล 2. เจรจากับผู้เสนอราคารายที่ 2 โดยผู้ว่าฯ รฟท.จะเสนอที่ประชุมบอร์ด รฟท.พิจารณาในเดือน เม.ย.นี้