รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ล่าช้า 18 เดือน เหตุปรับแบบสัญญา 2 ช่วงสะพานสีมาธานี ส่วนสัญญา 1, 3 ติดค่าเวนคืนเพิ่ม 383 ล้าน และอุโมงค์ 3 แห่ง ดีเลย์ 11.35% คาดเร่งสปีดเสร็จ ก.พ. 65
นายไพบูลย์ โชคไพรสิน ผู้จัดการโครงการ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ผู้จัดการโครงการรถไฟทางคู่สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ เปิดเผยว่า โครงการมีระยะทางรวม 132 กิโลเมตร วงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง 29,968.62 ล้านบาท โดยแบ่งงานออกเป็น 4 สัญญา ปัจจุบันภาพรวมทั้งโครงการฯ มีความล่าช้าประมาณ 18 เดือน (1 ปีครึ่ง) เนื่องจากติดปัญหาสัญญา 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางจิระ (กม.199+600-กม.268+136) ระยะทาง 69 กม. ซึ่งมีการปรับแบบก่อสร้าง ช่วงผ่านตัวเมืองนครราชสีมาบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟสีมาธานี ส่งผลให้งบประมาณก่อสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 3,000 ล้านบาท จากเดิม 7,000 กว่าล้านบาท เป็น 1 หมื่นกว่าล้านบาท
โดยแบบล่าสุด จากข้อตกลงร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาให้ก่อสร้างเป็นทางรถไฟยกระดับ และทุบสะพานรถยนต์ข้ามทางรถไฟสีมาธานีเดิม และก่อสร้างทางลอดแทน และมีความเห็นว่าให้กรมทางหลวง (ทล.) เป็นผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรถยนต์ วงเงินประมาณ 1,500 ล้านบาท เนื่องจากเป็นงานที่ ทล.มีความชำนาญ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เบื้องต้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือน ก.ค. 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 42 เดือน
ส่วนความคืบหน้าสัญญา 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร (กม.134+250-กม.198+200) ระยะทาง 58 กม. เป็นทางระดับพื้น 53 กม. และยกระดับประมาณ 5 กม. สะพานรถไฟ 20 แห่ง สะพานข้ามทางรถไฟ 1 แห่ง สะพานกลับรถรูปตัวยู 6 แห่ง ท่อลอดเหลี่ยมใต้รถไฟ 2 แห่ง สถานรถไฟ 7 แห่ง ปรับปรุงสถานีเดิม 3 แห่ง สร้างสถานีใหม่ระดับพื้น 3 แห่ง สถานีใหม่ยกระดับ 1 แห่ง
มี บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 7,560 ล้านบาท สัญญาเริ่มงานวันที่ 1 ก.พ. 2561 แล้วเสร็จวันที่ 31 ม.ค. 2565 มีความคืบหน้า 85.92% ช้ากว่าแผน 2.56%
โดยจุดเด่นของการก่อสร้าง มีช่วงที่เป็นทางยกระดับที่สูงที่สุด คือ 50 เมตร บริเวณมวกเหล็ก
สัญญาที่ 3 งานก่อสร้างอุโมงค์ เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ 3 อุโมงค์ บริเวณปูนซิเมนต์นครหลวง-บ้านหินสลับ บริเวณเขามะกอก-มวกเหล็ก และอ่างเก็บน้ำลำตะคอง-คลองไผ่ ซึ่งเป็นอุโมงค์ก่อสร้างมีระยะทางที่ยาวที่สุดประมาณ 5.8 กม. มีกิจการร่วมค้าไอทีดี-อาร์ที เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 9,290 ล้านบาท สัญญาเริ่มงานวันที่ 1 ก.ค. 2561 แล้วเสร็จวันที่ 30 ธ.ค. 2564 ปัจจุบัน
มีความก้าวหน้า 67.82% ล่าช้ากว่าแผน 11.35%
สัญญาที่ 4 งานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณทั้งโครงการวงเงิน 2,445 ล้านบาท มีกลุ่มกิจการร่วมค้าอิตาเลียนไทยฯ-LSIS เป็นก่อสร้าง เริ่มงานวันที่ 24 ม.ค. 2563 จะเสร็จวันที่ 23 ต.ค. 2566 ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 0.53% คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมกับที่งานก่อสร้างสัญญา 2 แล้วเสร็จ
นายไพบูลย์กล่าวว่า สาเหตุที่งานก่อสร้างสัญญา 1 และ 3 มีความล่าช้า เนื่องจากติดปัญหางบประมาณเวนคืนที่ดินเพิ่มขึ้นจำนวน 383 ล้านบาท ที่อยู่ระหว่างเสนอ ครม.พิจารณา ซึ่งเกิดจากการปรับแนวเส้นทางบางช่วงให้อยู่ในแนวเดียวกับรถไฟความเร็วสูง หรือรถไฟไทย-จีน เพื่อลดผลกระทบกับพื้นที่ป่าไม้ แต่มีช่วงหัวและท้ายเส้นทางที่ต้องกระทบชุมชน
นอกจากนี้ ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ช่วงแรกที่มีการเข้มงวดเรื่องแรงงานต่างด้าว ทำให้กระทบต่อการเคลื่อนย้ายแรงงาน และเคลื่อนย้ายวัสดุอุปกรณ์ รวมถึงติดเรื่องของการเข้าพื้นที่ของกรมป่าไม้ที่มีความล่าช้าด้วย
อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าต่างๆ ผู้รับจ้าง ได้ยื่นขอสงวนสิทธิ์ไว้แล้ว แต่ยังไม่มีการต่อขยายสัญญาใดๆ โดยประเมินว่าการก่อสร้างงานโยธาสัญญา 1 และ 3 โดยจะบริหารสัญญาให้แล้วเสร็จเป็นไปตามแผนเดิม ขณะที่การติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณยังคงเป็นไปตามแผน และจะมีการทดสอบระบบและปิดให้บริการ ภายในต้นปี 2565
ส่วนช่วงสัญญา 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ที่ล่าช้าจะกระทบต่อการเปิดเดินรถที่จะเป็นคอขวด และทำให้การเดินรถใช้ความเร็วไม่ได้เต็มที่