ส่งออกเดือน ก.พ. 64 มูลค่า 20,219 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 2.59% กลับมาติดลบอีกครั้ง หลังจากเพิ่งบวกไปได้ 2 เดือน แต่ยังอยู่ในทิศทางที่ดี คาด มี.ค.ไปต่อ และจะเห็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวของการส่งออกอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป มั่นใจทั้งปียังทำได้ตามเป้า 4%
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ก.พ. 2564 มีมูลค่า 20,219 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.59% เป็นการกลับมาหดตัวอีกครั้ง หลังจากเพิ่งขยายตัวเป็นบวกได้ 2 เดือนติดต่อกันก่อนหน้านี้ แต่ก็ถือว่าเป็นตัวเลขที่น่าพอใจและเป็นสัญญาณดี เพราะมูลค่าเกิน 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 20,211.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 21.99% โดยเกินดุลการค้า 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดส่งออกรวม 2 เดือนปี 2564 (ม.ค.-ก.พ.) มีมูลค่า 39,925.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.16% นำเข้ามูลค่า 40,120.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.77% ขาดดุลการค้า 195.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับปัจจัยที่ทำให้การส่งออกในเดือน ก.พ. 2564 ลดลง มาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง 4% โดยหดตัวอีกครั้งในรอบ 3 เดือน แต่ก็ไม่น่าห่วง เพราะยอดส่งออกที่ลดลงมาจากแรงฉุดของการส่งออกทองคำที่ลดลงถึง 93% ขณะที่สินค้าอื่นที่ลดลง เช่น ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ลด 7.2% สิ่งทอ ลด 12.5% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด ลด 6.6% ส่วนเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เพิ่ม 20.2% สินค้าเกี่ยวเนื่องน้ำมัน เพิ่ม 14.8% คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 12.7% เครื่องใช้ไฟฟ้า เพิ่ม 12.3% แผงวงจรไฟฟ้า เพิ่ม 9.5% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่ม 3.6% ผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่ม 24.8%
ส่วนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร เพิ่ม 7% ขยายตัว 3 เดือนต่อเนื่อง โดยสินค้าที่ขยายตัวเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เพิ่ม 46.6% ผัก ผลไม้สดแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป เพิ่ม 42.9% ยางพารา เพิ่ม 22.9% อาหารสัตว์เลี้ยง เพิ่ม 20.7% สิ่งปรุงรสอาหาร เพิ่ม 3.4% แต่น้ำตาลทราย ลด 35.5% อาหารทะเลแช่แข็งกระป๋องและแปรรูป ลด 10.9% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ลด 7.6% ข้าว ลด 4.9%
ทางด้านตลาดส่งออกมีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยตลาดหลักเพิ่ม 10.1% จากการเพิ่มขึ้นของญี่ปุ่น 6.5% สหรัฐฯ เพิ่ม 19.7% และสหภาพยุโรป 15 ประเทศ เพิ่ม 0.2% ตลาดศักยภาพสูง ลด 5.2% เช่น อาเซียนเดิม 5 ประเทศ ลด 17.3% CLMV ลด 4.2% ฮ่องกง ลด 36.7% ไต้หวัน ลด 2.5% แต่จีน เพิ่ม 15.7% อินเดีย เพิ่ม 8.9% เกาหลีใต้ เพิ่ม 10.9% ตลาดศักยภาพระดับรอง เพิ่ม 7.3% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 18.3% ทวีปแอฟริกา เพิ่ม 16.3% ละตินอเมริกา เพิ่ม 14% แคนาดา เพิ่ม 0.8% แต่ตะวันออกกลาง ลด 9.9% สหภาพยุโรป 12 ประเทศ ลด 2.2% และตลาดอื่นๆ ลด 87.5% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ลด 93%
นายภูสิตกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในเดือน มี.ค. 2564 คาดว่าจะยังดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ฐานปีก่อนเดือนมี.ค. 2563 อยู่ในระดับสูงถึง 22,330.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพราะตอนนั้นมีการส่งออกทองคำและอากาศยาน ทำให้ไตรมาสแรกปีนี้ตัวเลขน่าจะยังติดลบ แต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไปจะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นตัวของการส่งออก โดยทั้งปียังมั่นใจว่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 4% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 สหรัฐฯ กระตุ้นเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเกิน 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่า