กทท.คาดสัปดาห์หน้าอีอีซี ชง ครม.เคาะ ทลฉ.เฟส 3 ตั้งเป้า 2 เดือน เซ็นสัญญา “กัลป์-ปตท.” เผยแนวโน้มส่งออกฟื้น ม.ค. 64 สินค้าผ่านท่าเพิ่ม 3.57% จับมือ “อมตะ” ดึงสินค้าจีน-ลาว ผ่านแดน เล็ง PPP ผุดโปรเจกต์พัฒนา ท่าเรือคลองเตย
นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการแถลงผลการดำเนินการด้านนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ประจำปี 2564 ว่า ท่าเรือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญด้านโลจิสติกส์และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) วงเงิน 84,361 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ได้เห็นชอบผลการคัดเลือกแล้วอยู่ในขั้นตอนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรณีวงเงินที่เจรจากับเอกชน ต่ำกว่ากรอบที่อนุมัติ ซึ่งจากการเจรจากับเอกชนได้ปรับเพิ่มผลตอบแทนขึ้นมาที่ 29,050 ล้านบาท ต่ำกว่ากรอบราคาที่คาดหวัง 32,225 ล้านบาท ประมาณ 9.85% โดยคาดว่าจะลงนามสัญญาได้ภายในปีนี้
นอกจากนี้ กทท.ต้องเร่งรัดการพัฒนาโครงการต่างๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมายและแผนงาน ได้แก่ City Port, พัฒนาศักยภาพท่าเรือภูมิภาค, ยกระดับการให้บริการ, Smart Community แต่เนื่องจากเกิดโควิด-19 ทำให้ขั้นตอนในการสำรวจสอบถามความคิดเห็นประชาชน ชุมชนยังไม่เสร็จ เพราะมีทั้งที่ยอมรับและไม่ยอมรับ ให้ กทท.เร่งอธิบายทำความเข้าใจกับประชาชน คาดว่าภาวะปัจจุบันอาจจะทำให้ขยับแผนออกไปบ้าง
ร.ท.กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท.กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้เสนอผลคัดเลือก ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ใปยังเลขาฯ ครม.แล้ว คาดว่าจะเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้า หลัง ครม.เห็นชอบจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือนจะสามารถลงนามสัญญากับกลุ่ม GPC ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้
โดยขั้นตอนหลังจาก ครม.เห็นชอบ คณะกรรมการคัดเลือกฯจะพิจารณาร่างสัญญาร่วมกับเอกชนอีกครั้ง ควบคู่กับการเปิดเอกสารข้อเสนอซองที่ 5 (ข้อเสนอทางเทคนิคเพิ่มเติม) ซึ่งไม่มีผลต่อการพิจารณาแล้ว จากนั้นส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ และเสนอ กพอ.อนุมัติก่อนลงนามสัญญา โดยหลังลงนามกลุ่ม GPC จะรับผิดชอบดำเนินการเรื่อง EIA ให้แล้วเสร็จใน 1 ปี และก่อสร้างใน 4 ปี
ทั้งนี้ ผลตอบแทนที่ 2.9 หมื่นล้านบาท หากคำนวน NPV ตลอดอายุสัมปทาน 35 ปี จะอยู่ที่กว่า 87,400 ล้านบาท ซึ่งยอมรับได้ และเมื่อเทียบกับตัวเลขที่ศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน (FS) ต่ำกว่าประมาณ 300 ล้านบาท เท่านั้น
ร.ท.กมลศักดิ์กล่าวถึงผลการดำเนินงานของการท่าเรือฯ ในปีงบประมาณ 2564 ว่า ในไตรมาสแรก 2564 มีปริมาณสินค้า จำนวน 25.762 ล้านตัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงอยู่ที่ 6.24% มีตู้สินค้าผ่านท่า 2.311 ล้าน ที.อี.ยู. ลดลง 2.81% ซึ่งเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่หลังจากที่ประเทศไทยและหลายประเทศมีวัคซีนป้องกัน ปริมาณสินค้าและตู้สินค้าผ่านท่า มีทิศทางฟื้นตัว ซึ่งส่งผลให้ในเดือนมกราคม 2564 ปริมาณสินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 3.57% อยู่ที่ 9.253 ล้านตัน จาก 8.934 ล้านตัน และตู้สินค้าผ่านท่าเพิ่มขึ้น 2.66% อยู่ที่ 773,055 ที.อี.ยู. จาก 753,042 ที.อี.ยู.
จับมือ “อมตะ” ดึงตู้สินค้าจากจีนผ่าน Dry Port สปป.ลาว ส่งออกที่ ทลฉ.
กทท.มีแผนยกระดับให้มีมาตรฐานในระดับโลก เพื่อเป็นประตูการค้าหลักและศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง นำระบบ Port Community System (PCS) นำระบบศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลด้านขนส่งทางน้ำและโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ มาให้บริการ รวมถึงพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ซึ่งร่วมศึกษากับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ และฉะเชิงเทรา (อีอีซี) รวมถึงลงนามความร่วมมือกับกลุ่มอมตะ ที่ได้เข้าไปลงทุน Dry Port ที่ สปป.ลาว เพื่อรับสินค้าจากจีนและลาว ไปยัง ทลฉ. เป็นการต่อยอดในการเพิ่มปริมาณตู้สินค้าอีกทาง
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาศูนย์การขนส่งสินค้าทางรถไฟ และลานขนถ่ายตู้สินค้า บนพื้นที่ 600 ไร่ รองรับรถไฟได้ 12 ขบวน พร้อมติดตั้งเครื่องมือยกขนตู้สินค้าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) ซึ่งจะรองรับตู้สินค้าได้ 2 ล้าน ที.อี.ยู.ต่อปี
ส่วนท่าเรือกรุงเทพมีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง 20G ส่งเสริมระบบการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transport) รองรับปริมาณตู้สินค้า 240,000 ที.อี.ยู.ต่อปี ส่วนทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางด่วน สายบางนา-อาจณรงค์ (S1) อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด ซึ่งจะหารือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในการลงทุนต่อไป คาดว่าจะให้ กทพ.ลงทุนและจัดเก็บค่าผ่านทางทั้งหมด
สำหรับโครงการ Smart Port การพัฒนาสินทรัพย์ในเชิงธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่ม แบ่งเป็น 3 โซน คือ ด้านพาณิชยกรรมด้านบริการเรือและสินค้า ด้านอสังหาริมทรัพย์ธุรกิจเกี่ยวเนื่องจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน PPP ระยะเวลา 30-35 ปี แบบผสมผสาน (MIXED-USE) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์กลางทางการแพทย์ โรงแรม Sport Complex ท่าเรือท่องเที่ยว และดิวตี้ฟรี