xs
xsm
sm
md
lg

ผอ.ทลฉ.ยันไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์เครื่องชั่งตวงวัด ชี้ไม่สามารถแก้ไขน้ำหนัก-วันที่ได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์ข่าวศรีราชา -
 กทท.แจงข่าวจับกุมเครื่องชั่งที่ ทลฉ. หลังนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบพบบางจุดมีปัญหาน้ำท่วมขังใต้แท่นชั่งจากภาวะฝนหนัก เร่งบริษัทรับเหมาแก้ไข ด้าน ผอ.ทลฉ. ยันไม่มีการเรียกรับประโยชน์ ชี้เครื่องชั่งไม่สามารถแก้ไขผลน้ำหนัก วัน เวลาและสถานที่ได้

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวในโลกออนไลน์เกี่ยวกับการจับกุมเครื่องชั่งตวงวัดท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งไม่ได้มาตรฐานและไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เกี่ยวกับการใช้เครื่องชั่งตวงวัดที่ติดตรึงซึ่งมีพิกัดกำลังตั้งแต่ 30 เมตริกตันขึ้นไป และมีส่วนชั่งน้ำหนักเป็นระบบดิจิทัล (เครื่องชั่งรถยนต์) นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.ร.อ.โสภณ วัฒนมงคล ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายชนินทร์ แก่นหิรัญ กรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบเครื่องชั่ง บริเวณประตูตรวจสอบที่ 3 โดยมี ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง นำคณะผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ผู้กำกับการ สภ.แหลมฉบัง และเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบ

โดยได้มีการนำรถบรรทุก 10 ล้อติดตั้งเครนพร้อมตุ้มน้ำหนักของศูนย์ชั่งตวงวัดชลบุรี หมายเลขทะเบียน 82-8521 นนทบุรี ซึ่งเป็นรถคันเดียวกับที่ได้นำมาสอบเทียบเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2563 และได้นำมาทดสอบเครื่องชั่ง ณ ประตูตรวจสอบ 3 จำนวน 2 ช่องทาง คือ ช่องทาง 3F และ 3H


สรุปได้ดังนี้ เจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดได้ทำการทดสอบโดยนำรถบรรทุก 10 ล้อติดตั้งเครนพร้อมตุ้มน้ำหนัก ที่มีน้ำหนักรวม 23,030 กิโลกรัม ขึ้นชั่งน้ำหนักบนแท่นชั่งช่อง 3F และแสดงน้ำหนัก 23,030 กิโลกรัม ซึ่งตรงกับน้ำหนัก 23,030 กิโลกรัมที่ปรากฏในจอของระบบเครื่องชั่ง และเปรียบเทียบกับการใช้เฉพาะตุ้มน้ำหนัก จำนวน 20 ตุ้ม ตุ้มละ 500 กิโลกรัม รวมเป็น 10,000 กิโลกรัม วางบนแท่นชั่ง ซึ่งตรงกับน้ำหนัก 10,000 กิโลกรัมที่ปรากฏในจอของระบบเครื่องชั่งเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม รถบรรทุก 10 ล้อ ซึ่งติดตั้งเครนไม่ได้กำหนดอยู่ในตารางรายการน้ำหนักหักลบในระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมยานพาหนะผ่านท่าของท่าเรือแหลมฉบัง ที่ได้รับความเห็นชอบให้ใช้จากศูนย์ชั่งตวงวัดชลบุรีตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา โดยระบบจะกำหนดเพียงรถบรรทุก 10 ล้อที่ใช้บรรทุกตู้สินค้าโดยเฉลี่ยกำหนดค่ามาตรฐานไว้ที่ 8,000 กิโลกรัมเท่านั้น

ถือว่าไม่ตรงกับน้ำหนักรถบรรทุก 10 ล้อติดตั้งเครนซึ่งมีน้ำหนัก 13,030 กิโลกรัม ซึ่งน้ำหนักเฉพาะตัวรถบรรทุก 10 ล้อทั้ง 2 แบบมีน้ำหนักต่างกันจากการติดตั้งเครนและอุปกรณ์ประกอบ ฝากระบะด้านข้างและด้านหลัง จึงทำให้น้ำหนักคลาดเคลื่อนกับรถบรรทุกที่อยู่ในระบบจัดเก็บของการท่าเรือฯ อยู่ประมาณ 5,000 กิโลกรัม

และเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัดได้รับทราบข้อมูลแล้ว อย่างไรก็ตาม เมื่อได้เปรียบเทียบกับรถบรรทุกมาตรฐานของบริษัทผู้ผลิตจะมีน้ำหนักเพียง 7,050 กิโลกรัมเท่านั้น


สำหรับแท่นชั่งช่อง 3H เจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด ได้ทดสอบการชั่งน้ำหนักรถบรรทุก 10 ล้อติดตั้งเครนพร้อมตุ้มน้ำหนักที่ชั่งไว้เดิมในช่อง 3F ปรากฏว่า น้ำหนักที่แสดงผลคลาดเคลื่อนไปจากเดิม 23,030 กิโลกรัม เป็น 27,000 กิโลกรัม และในส่วนของรถบรรทุก 10 ล้อปกติที่มีน้ำหนัก 7,690 กิโลกรัม น้ำหนักที่แสดงคลาดเคลื่อนไปเป็น 8,970 กิโลกรัม

โดยบริษัท เอ๊กซิเจน จำกัด เป็นผู้รับจ้างบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขและตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนักประตูตรวจสอบของท่าเรือแหลมฉบัง ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ใต้แท่นชั่งน้ำหนัก 3H พบว่า มีน้ำท่วมขังจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับบริษัทฯ ไม่สามารถสูบน้ำออกจากใต้แท่นชั่งได้

ทั้งนี้ ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้สั่งการให้บริษัทฯ ดำเนินการสูบน้ำออกโดยด่วนและเร่งตรวจสอบสภาพใต้แท่นชั่ง และเมื่อบริษัทฯ ได้สูบน้ำออกเรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ ได้ทำการตรวจสอบพบว่าโหลดเซลล์มีการติดตั้ง 6 ตัวครบถ้วนตามจำนวน และสภาพอุปกรณ์ประกอบอื่นๆ มีความครบถ้วนและติดตั้งตรงตามตำแหน่งที่ติดตั้งไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547


ยันไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์เครื่องชั่งตวงวัด

ด้าน ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เผยว่า เครื่องชั่งทั้ง 4 เครื่องที่ถูกระงับใช้โดยสำนักงานชั่งตวงวัด เป็นเครื่องชั่งที่ใช้ชั่งสำหรับสินค้าขาออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นไปตามภาค 3 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 โดยน้ำหนักรวมที่ได้รับจากเครื่องชั่ง (Gross Weight) ของรถบรรทุกตู้มีสินค้าที่ได้จากเครื่องชั่งจะไม่สามารถแก้ไขผลน้ำหนักรวมที่ได้รับจากเครื่องชั่ง (Gross Weight) รวมทั้งไม่สามารถแก้ไข วัน เวลา และสถานที่ทำการชั่งที่แสดงไว้ได้

โดยน้ำหนักรวมที่ได้รับจากเครื่องชั่ง (Gross Weight) ดังกล่าว เมื่อประมวลเข้ากับระบบหักลบน้ำหนักตัวรถตามประเภทรถ (Vehicle Type) ซึ่งได้รับคำรับรองให้ใช้จากศูนย์ชั่งตวงวัดชลบุรีมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อให้ได้ข้อมูลเฉพาะส่วนน้ำหนักสินค้าตามที่กรมศุลกากรต้องการ

และข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงข้อมูลประกอบส่วนหนึ่งที่กรมศุลกากร จะนำไปใช้ในการประมวลผลผ่านระบบ NSW ของกรมศุลกากร เพื่อประโยชน์ในการตัดบัญชีใบกำกับการขนย้ายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Matching) ผ่านระบบ NSW ของกรมศุลกากรเท่านั้น

โดยกระบวนการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการสอบทานภายใต้การบังคับใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยของท่าเรือตามข้อกำหนดของ IMO (International Marine Organization)

และข้อมูลส่วนประเภทรถ (Vehicle Type) มิได้มีผลกระทบต่อจำนวนภาษีที่ผู้ส่งออกได้ชำระไว้ก่อนหน้า (หากมี) กับกรมศุลกากรแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น


นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังไม่ได้ใช้ และ/หรือไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลน้ำหนักที่ชั่งได้จากเครื่องชั่งไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในการนำไปคิดคำนวณภาษี ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการใดๆ อีกทั้ง ท่าเรือแหลมฉบังมีเพียงการเรียกเก็บค่าบริการในการอำนวยความสะดวกจากรถขนส่งสินค้าทุกคันที่วิ่งผ่านท่าเรือแหลมฉบังซึ่งเป็นค่าบริการในอัตราคงที่และไม่ได้แปรผันตามข้อมูลน้ำหนักที่ชั่งได้

ด้วยเหตุนี้ผลการชั่งน้ำหนักที่แตกต่างหรือเบี่ยงเบนไปจากค่ามาตรฐานไม่ว่าจะมากหรือน้อยเพียงใดก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียที่ท่าเรือแหลมฉบัง จะได้รับ

“ท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงพนักงานของท่าเรือแหลมฉบัง ไม่มีเหตุผลหรือแรงจูงใจใดๆ ที่จะกลั่นแกล้ง และหรือจงใจที่จะต้องทำให้น้ำหนักของเครื่องชั่งแตกต่างหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือเรียกรับผลประโยชน์ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้”


ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง ยังเผยอีกว่าหากผลการเปรียบเทียบดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อนกว่าที่ระบบศุลกากรยอมรับได้ ระบบจะสั่งให้ไปทำการเอกซเรย์ (X-ray) ซึ่งผู้ขับรถบรรทุกจะต้องนำตู้สินค้าไปทำการเอกซเรย์ (X-ray) ก่อนที่จะนำตู้สินค้าไปส่งให้ท่าเทียบเรือปลายทางก่อนขึ้นเรือ

และหากตู้สินค้าดังกล่าวไม่ได้ทำการเอกซเรย์ (X-ray) ก็จะถูกท่าเทียบเรือปลายทางปฏิเสธการขนถ่ายขึ้นเรือ ซึ่งระบบดังกล่าวมีการสอบทานกันหลายขั้นตอนอยู่แล้ว หากกรณีระบบของศุลกากรแสดงว่าตู้สินค้าดังกล่าวมีความถูกต้อง จะสั่งให้ผ่านไปขนถ่าย ณ ท่าเรือต่อไปได้

อนึ่ง การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้จัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการซ่อมทำเครื่องชั่งที่ชำรุดมาโดยตลอด โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้รับจัดสรร จำนวน 1,100,000 บาท เพื่อซ่อมทำเครื่องชั่งที่ชำรุด จำนวน 1 ประตู ขณะนี้อยู่ระหว่างสรรหาตัวผู้รับจ้าง นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังได้ขออนุมัติหลักการเพื่อจัดสรรงบลงทุนในการจัดหาทดแทนเครื่องชั่งแบบ Static ทั้งหมดรวม 7 เครื่อง

และขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างนำเสนอคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณางบประมาณ 2564 ได้รับจัดสรรจำนวน 1,100,000 บาท เพื่อซ่อมทำเครื่องชั่งที่ชำรุด จำนวน 1 ประตู รวมทั้งอยู่ระหว่างสรรหาตัวผู้รับจ้าง

นอกจากนี้ ท่าเรือแหลมฉบังยังได้ขออนุมัติหลักการเพื่อจัดสรรงบลงทุนในการจัดหาทดแทนเครื่องชั่งแบบ Static ทั้งหมดรวม 7 เครื่อง ขณะนี้อยู่ในระหว่างนำเสนอคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา




กำลังโหลดความคิดเห็น