เศรษฐกิจของประเทศไทยขับเคลื่อนโดยภาคการส่งออก ในสัดส่วนสูงถึงราว 70% ของจีดีพี ขณะที่ภาคเกษตรก็เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกของไทยที่ทั่วโลกยอมรับ โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ประเมินจีดีพีภาคเกษตรปี 2564 ว่าจะสามารถขยายตัวได้ 1.3-2.3% หรือราว 657,570 - 664,062 ล้านบาท แต่จีดีพีภาคเกษตรอาจไม่ถึงฝั่งฝัน เพราะขณะนี้กำลังมีอุปสรรคให้ภาคเกษตรต้องสะดุดจาก 2 ปัญหาสำคัญนั่นคือ “ปัญหาแรงงาน” และ “ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน” หรือที่เรียกกันว่า “ชอร์ต” ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ปัญหาจากรัฐอย่างเร่งด่วน
รอแรงงานต่างชาติ
ช่วงการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้แรงงานต่างชาติบางส่วนต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา แม้ขณะนี้สถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลาย ภาครัฐคลายล็อคหลายๆมาตรการ แต่กลับพบว่าไม่มีความชัดเจนในการจัดการปัญหาแรงงาน โดยแรงงานต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมแทบทุกแห่งต้องประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอาหาร อาทิ อุตสาหกรรมไก่เนื้อ อุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงแรงงานที่จะทำหน้าที่เก็บเกี่ยวผลไม้ตามสวนต่างๆของผู้ประกอบการภาคเกษตรรายเล็กรายน้อยด้วย ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นนานผลผลิตในสวนทั้งหมดย่อมเสียหาย
การผ่อนปรนมาตรการกักตัว 14 วันก่อนเข้าทำงาน อาจต้องหยิบมาพิจารณา แต่หากไม่สามารถทำได้ด้วยเหตุผลของการป้องกันโรค รัฐควรมีแนวทางเยียวยาให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการภาคเกษตรที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการกักตัวดังกล่าว ขณะเดียวกันภาครัฐของไทยควรเร่งเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐ เพื่อหาแนวทางให้แรงงานต่างชาติเข้ามาตามกรอบความร่วมมือโดยเร่งด่วน เพราะขณะนี้บางโรงงานต้องดีเลย์สินค้าส่งออก อาจทำให้ลูกค้าในต่างประเทศหันไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่นแทน การที่ไทยจะได้ออเดอร์กลับคืนมานั้นย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
ตู้คอนเทนแนอร์ ของสำคัญการขนส่ง
ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เป็นปัญหาที่กระทบธุรกิจส่งออกต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เมื่อทั่วโลกต้องเผชิญสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่เพียงทำให้มีการล็อกดาวน์ของท่าเรือในบางประเทศ ยังทำให้การตรวจฆ่าเชื้อตู้สินค้าต่างๆในทุกประเทศปลายทางต้องเข้มงวดมากขึ้น สวนทางกับจำนวนแรงงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในทุกๆท่าเรือซึ่งมีจำนวนน้อยลง ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์แต่ละตู้ต้องใช้เวลาค้างอยู่ในประเทศปลายทางนานกว่าปกติ เช่น จาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน เป็นเหตุให้อัตราการหมุนเวียนของตู้ในระบบต้องติดขัดยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน
เมื่อของไม่พอใช้ก็เป็นไปตามกฎอุปสงค์อุปทาน ค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือ มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปที่ปรับเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว กลายเป็นต้นทุนให้ผู้ประกอบการแบกรับ และถึงจะมีเงินไม่อั้นที่จะจ่ายก็ใช่ว่าจะสามารถเช่าตู้ได้ทันที เพราะยังต้องเสียเวลาในการต่อคิวค่อนข้างยาว กระทบถึงระยะเวลาส่งของ เป็นต้นทุนอีกตัวที่ซ้ำเติมผู้ส่งออกทุกคน ส่วนอุตสาหกรรมอาหารอย่างไก่เนื้อ ยังต้องรับมือการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งทางเรือหลังสหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งทำให้เส้นทางการขนส่งยาวขึ้นด้วย
แนวทางแก้ปัญหามีอยู่หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะด้วยการเพิ่มมาตรการจูงใจให้นำเข้าตู้เปล่า โดยลดภาระท่าเรือ หรือจะซ่อมแซมตู้เก่าให้นำกลับมาใช้ใหม่ รวมถึงการนำตู้สินค้าที่อยู่ในอายัดของกรมศุลกากรออกมาใช้ประโยชน์ และตรวจสอบปริมาณตู้เปล่าในประเทศให้นำกลับมาหมุนเวียนใช้ ไม่ใช่ปล่อยคาไว้ในลานอย่างไร้ค่า อีกทั้งควรอำนวยความสะดวกให้เรือใหญ่เข้าเทียบท่าแหลมฉบังเป็นการถาวร และประการสำคัญ รัฐควรมีมาตรการช่วยเหลือกรณีที่ไม่สามารถส่งออกและนำเข้าได้ จากปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ
ประเทศไทยกำลังต้องการการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแฟ็กเตอร์ที่มีความพร้อมเพื่อการส่งออกนำรายได้เข้าประเทศ ขอเพียงรัฐบาลอย่าเพิกเฉย และต้องเป็นหัวหอกทะลวงปัญหา เร่งคลี่คลายทั้ง 2 ประเด็นให้รวดเร็ว อย่าลืมว่า โอกาสมีไว้ให้คว้า อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมประมง และอีกหลายๆอุตสาหกรรม ก็พร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ ... เพียงทุกกระทรวงทุกกรมกองที่เกี่ยวข้องจะลุกขึ้นขยับตัวให้เร็ว ... ประเทศไทยก็จะคว้าเงินเข้ามาได้นับแสนล้านแล้ว