“การบินไทย” แจงยิบทุกขั้นตอนการใข้น้ำมันเครื่องบิน เป็นไปตามมาตรฐานสากลความปลอดภัยสูงสุด ชี้เกณฑ์ประเมินนักบินต้องพิจารณาหลายด้าน
วันที่ 24 มี.ค. ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เผยถึงประเด็นที่การบินไทยใช้หลักเกณฑ์ประเมินนักบิน เพื่อความปลอดภัยสูงสุด โดยระบุว่า บริษัท การบินไทย ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลการสั่งน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อที่จะใช้เป็นข้อมูลในการประเมินผลการปฏิบัติงานของนักบิน โดยขอชี้แจงเพิ่มเติมว่า การวางแผนการบินของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรฐานและกฎสากล โดยปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงของทุกเที่ยวบิน (Standard Ramp Fuel) จะประกอบด้วยเชื้อเพลิงในส่วนต่างๆ ดังนี้
- น้ำมันขับเคลื่อนบนพื้น (Taxi Fuel)
- น้ำมันสำหรับเดินทางตั้งแต่วิ่งขึ้นจนถึงสนามบินปลายทาง (Trip Fuel)
- น้ำมันใช้เดินทางไปยังสนามบินสำรอง (Alternate Fuel)
- น้ำมันสำรองสุดท้ายที่ใช้บินวน 30 นาที ในระดับความสูง 1,500 ฟุต เหนือสนามบินสำรอง (Final Reserve Fuel)
- น้ำมันเชื้อเพลงสำรองฉุกเฉิน สำหรับเหตุการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผน (Contingency Fuel)
นอกจากนี้ หน่วยงานประสานการอำนวยการบิน (Flight Dispatch Department) ของบริษัทฯ โดยพนักงานอำนวยการบิน (Flight Dispatcher) ที่ผ่านการทดสอบความรู้ และถือใบอนุญาตจากองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เป็นผู้ทำหน้าที่ในการวางแผนการบิน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานกฎการบิน
โดยการวางแผนนี้ได้ครอบคลุมข้อมูลด้านการบิน ตลอดเส้นทางการบิน ได้แก่ เอกสารแถลงข่าวการบิน (Aeronautical Information Publication: AIP), การออกประกาศสำหรับผู้ทำการในอากาศ (Notices to Airmen : NOTAM), สภาพอากาศระหว่างเส้นทางการบิน (En-route Weather), สนามบินปลายทาง (Destination), สนามบินสำรองระหว่างเส้นทาง (En-route Alternate), สนามบินสำรองที่ปลายทาง (Destination Alternate) และแผนการบิน (Operation Flight Plan) เพื่อนำมาประมวล และกำหนดเส้นทางบินที่ปลอดภัยที่สุด
โดยระบบคอมพิวเตอร์จะนำข้อมูลดังกล่าวมาคำนวณ เพื่อกำหนดค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในแต่ละเที่ยวบิน ก่อนทำการบินในแต่ละเที่ยวบิน พนักงานอำนวยการบินและนักบินจะต้องมาปรึกษาหารือร่วมกัน (Joint Responsibility) โดยนักบินควบคุมอากาศยานจะพิจารณาปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงอีกครั้งตามความเหมาะสม
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ควบคุมระวางน้ำหนัก (Load Control-Red Cap) จะคำนวณน้ำหนักผู้โดยสาร กระเป๋าสัมภาระ ไปรษณียภัณฑ์และคาร์โก้ โดยนำน้ำหนักที่แท้จริง (Actual Zero Fuel Weight) แจ้งให้นักบินรับทราบ เพื่อพิจารณาปรับปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงหากมีความจำเป็นต่อไป
จะเห็นได้ว่า ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงในการเดินทางจะมีการวางแผน มีขั้นตอน ประเมิน จากข้อมูลต่างๆ อย่างรอบคอบรัดกุม ถึง 3 ขั้นตอน จึงมั่นใจได้ว่าการทำการบินในทุกเที่ยวบินของการบินไทย ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ทุกสายการบินในโลกปฏิบัติอยู่ตามมาตรฐานสากลทำให้มีความปลอดภัยสูงสุด
สำหรับกรณีมีเหตุจำเป็น นักบินสามารถสั่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Extra Fuel) ได้ แต่ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
อย่างไรก็ตาม การประเมินนักบินมีเกณฑ์การพิจารณาอีกหลายด้าน เช่น การปฏิบัติการบินอย่างปลอดภัย (Accident, Incident) ประสิทธิภาพและความตั้งใจในปฏิบัติหน้าที่ (Performance) การสั่งน้ำมันเชื้อเพลิงด้วยความเหมาะสม (Optimum Fuel) อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของความปลอดภัย
บริษัทฯ ปฏิบัติการบินโดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นอันดับแรก และวางแผนการบินตามมาตรฐานสากลอย่างถูกต้อง โดยปฏิบัติการบินในทุกเที่ยวบินอย่างปลอดภัยและตรงเวลา เพื่อให้ผู้โดยสารและลูกค้าได้รับความพึงพอใจในการบริการสูงสุด
ทั้งนี้ บริษัทฯ ขอยืนยันเพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้โดยสารทุกท่านว่า บริษัทให้ความสำคัญสูงสุดต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารทุกเที่ยวบินซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติการบิน