xs
xsm
sm
md
lg

ค่าตั๋วแอร์ไลน์พุ่ง “ศักดิ์สยาม” สั่ง กพท.รื้ออัตราใหม่ เช็กสถานะ 8 สายการบินโคม่าต้องเร่งฟื้นฟู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ศักดิ์สยาม” สั่ง กพท.ปรับการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามหลักสากลและเป็นธรรม ชี้จองก่อนถูก จองช้าแพงไม่ตอบโจทย์ จ่อดึง Slot การบินคืนจัดสรรใหม่ เหตุการบินไทยหลุดจากรัฐวิสาหกิจเพื่อใช้ให้เป็นประโยชน์สูงสุด พร้อมเช็กสถานะการเงินแอร์ไลน์พบ 8 บริษัทมีปัญหา ต้องเร่งทำแผนฟื้นฟู

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กบร. ครั้งที่ 3/2564 วันที่ 12 มี.ค.ว่า ที่ประชุมมีมติรับทราบผลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบของสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ค่าโดยสารเส้นทางภายในประเทศตามที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT รายงาน ซึ่งพบว่าจำนวนผู้โดยสารจากต่างประเทศที่ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ ส่งผลให้ต้นทุนต่อผู้โดยสารที่สายการบินต้องแบกรับปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้สายการบินจำเป็นต้องปรับเพิ่มค่าโดยสาร
ส่วนผลของมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน (Excise Tax) ช่วยลดต้นทุนผันแปร (Variable Cost) ให้แก่สายการบิน ช่วยพยุงให้สายการบินดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่ไม่ส่งผลต่อความสามารถในการลดค่าโดยสารได้ เนื่องจากสายการบินต้องรับภาระต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) รายการอื่นๆ ในขณะที่จำนวนผู้โดยสารลดลงและยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ, จำนวนเที่ยวบินลดลง, การขาดสภาพคล่องของสายการบิน และการกำหนดราคาค่าโดยสารมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ฤดูกาล อุปสงค์ ระยะเวลาการจองล่วงหน้า เป็นต้น

โดยได้มอบให้ กพท.พิจารณาการกำหนดอัตราค่าโดยสารให้เป็นไปตามหลักสากลและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีเรื่องของระยะเวลาการจองตั๋วมาเกี่ยวข้อง โดยจองก่อนจะได้ตั๋วราคาถูก จองช้าราคาจะแพงกว่า ซึ่งเห็นว่าไม่เป็นไปตามหลักสากล และไม่ตอบโจทย์ที่จะอธิบายต่อผู้โดยสาร ซึ่งในระบบโลจิสติกส์การคิดอัตราค่าโดยสารใช้ฐานคิดตามระยะทาง (Distance Rate) และน้ำหนัก (Weight Rate) และกำหนดเฟกเตอร์ตัวคูณที่เหมาะสมและยอมรับกันได้

“ให้ไปดูว่าหลักสากลทั่วโลกคิดกันอย่างไร ซึ่งการคิดอัตราค่าโดยสารรถไฟ เครื่องบิน รถไฟฟ้า รถทัวร์ มีหลักมาตรฐาน เช่น รถไฟมีชั้น 1, ชั้น 2, ชั้น 3 เป็นตัวกำหนดราคา ดังนั้นสายการบินต้นทุนต่ำจะเหมือนรถชั้น 3 ผมเข้าใจผู้ประกอบการดี จึงให้ กพท.ไปดูให้ทั่วทั้งหมดให้ครอบคลุม”

@เขย่า Slot การบินจัดสรรใหม่ สายการบินไม่ใช้เรียกคืน

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ กพท.พิจารณาการจัดสรรเวลาการบิน ( Slot ) ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศต้องมีชัดเจน โดยลืมเรื่องเดิมที่ให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหาร Slot เนื่องจากปัจจุบันการบินไทยไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแล้ว ดังนั้น กพท.จะต้องดูแล Slot ทั้งหมด โดยมีกติกาว่าหากสายการบินที่มี Slot แล้วใช้ไม่เต็ม หรือไม่ใช้ จะเรียกคืนเพื่อนำมาบริหารให้สายการบินอื่นที่ต้องการและสามารถนำไปทำการบินได้จริง จะทำให้เกิดการบริหารการบินที่ได้ประโยชน์ต่อประเทศ ไม่มีปัญหาบางช่วง Slot ว่าง ส่วนหลักการ Slot ระหว่างประเทศ ต้องคำนึงรูปแบบต่างตอบแทนด้วย โดยให้ กพท.จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่าง กพท.กับภาคอุตสาหกรรมการบิน (Industry Conference) และกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ต่างๆ เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงานด้านการบินพลเรือนทุกภาคส่วนให้เกิดประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

และยังได้เห็นชอบการปรับปรุงเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าขายในการเดินอากาศ (ใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือน) แบบมาตรฐาน 3 ประเภท ได้แก่ 1. ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำมีกำหนด 2. ประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบไม่ประจำ และ 3.  ประเภทการทำงานทางอากาศ เพื่อใช้เป็นเงื่อนไขมาตรฐานแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนสำหรับผู้ได้รับใบอนุญาตทุกราย และเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายที่มีการปรับปรุงและสถานการณ์ปัจจุบัน

เรื่องนี้จะต้องมีความชัดเจนภายใน 1 เดือน โดยจะมีการติดตามอีกครั้งเพื่อเตรียมความพร้อมรับการบินที่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาส 4/2564 การเดินทางท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศจะกลับมา ซึ่งจะเดินทางด้วยเครื่องบินประมาณ 80%

@เช็กสถานะการเงิน พบ 8 บริษัทมีปัญหา ต้องเร่งทำแผนฟื้นฟู

กบร.มีมติรับทราบการรวบรวมข้อมูลผลการประกอบกิจการประจำปี 2562 และจัดกลุ่มตามระดับสุขภาพทางการเงินของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนประเภทการขนส่งทางอากาศเพื่อการพาณิชย์แบบประจำ (สายการบินของไทยซึ่งขนส่งผู้โดยสาร) โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับอันตราย พบมี 8 บริษัท 2. ระดับเฝ้าระวัง 3 บริษัท และ 3. ระดับปลอดภัย (ไม่มี) โดยกลุ่มระดับอันตราย กพท.จะเชิญเข้ามาชี้แจงรายละเอียดและทำแผนฟื้นฟูธุรกิจภายในเดือน มี.ค. 2564 เพื่อประเมินสถานะทางการเงินว่าจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า รวมทั้งวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขเพื่อหาทางออกและแก้ไข

ทั้งนี้ หากสายการบินไม่สามารถแก้ปัญหาได้ กพท.จะไม่พิจารณาจัดสรรเส้นทางบินเพิ่มเติม ไม่อนุญาตให้จัดหาอากาศยานเพิ่มเติม และการจำกัดระยะเวลาในการจำหน่ายบัตรโดยสารล่วงหน้าเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้โดยสารในอนาคต

นอกจากนี้ ให้ กพท.ประสานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อจัดให้มีการฉีดวัคซีน COVID-19 แก่บุคลากรทางการบินซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องสัมผัสและใกล้ชิดกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางทางอากาศ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดทำการบินระหว่างประเทศและเพื่อให้ประเทศไทยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจผ่านระบบการขนส่งทางอากาศได้


กำลังโหลดความคิดเห็น