ปตท.สผ.เตรียมทบทวนปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้วต่ออัตราการผลิต (R/P Ratio) เหลือ 5 ปีจากปัจจุบัน 7 ปี เหตุมีปริมาณ Resource ที่พร้อมเปลี่ยนเป็นสำรองพิสูจน์แล้วได้ทันทีและลดความเสี่ยงจากความต้องการใช้ปิโตรเลียมที่ลดลงในอนาคต รวมทั้งรีวิวเป้าหมายการโตของปริมาณการขายหลังทำได้ตามเป้าหมายโตเฉลี่ย 6% ใน 5 ปี
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)(PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนที่จะทบทวนปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้ว (Reserve) ต่ออัตราการผลิตหรือ R/P Ratio ให้อยู่ที่ระดับ 5 ปี จากปัจจุบันบริษัทมี R/P Ratio อยู่ที่ 7 ปีแล้วภายหลังจากบริษัทได้เข้าซื้อกิจการเมอร์ฟี่ออยล์ที่มาเลเซีย การชนะประมูลแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช และการถือหุ้นในแหล่งโอมาน บล็อก 61 ในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทมีปริมาณทรัพยากร (Resource) ในปริมาณที่มากเพียงพอและสามารถเปลี่ยน Resource มาเป็น Reserve ได้ ทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องมีปริมาณสำรองพิสูจน์แล้วต่ออัตราการผลิตอยู่ในระดับสูงถึง 7 ปี
นอกจากนี้ บริษัทยังคำนึงถึงแนวโน้มความต้องการใช้ปิโตรเลียมในอนาคตที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากฟอสซิลเป็นไฟฟ้า ทำให้ความต้องการใช้ปิโตรเลียมในอนาคตลดลง โดยคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกจะทำจุดสูงสุด (พีก) ใน 10 ปีข้างหน้า ขณะที่ก๊าซธรรมชาติมีความต้องการใช้ถึงจุดพีกในอีก 20 ปี หรือปี 2583 ดังนั้น การมีปริมาณสำรองฯ มากอาจจะมีความเสี่ยงในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทจะหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงนักลงทุนด้วย
นายพงศธรกล่าวต่อไปว่า บริษัทยังเตรียมทบทวนเป้าหมายการเติบโตด้านปริมาณการขายที่ 6% ต่อปีจะคงไว้หรือเปลี่ยนแปลง หลังจากบริษัทประสบความสำเร็จในการมีปริมาณการขายเติบโตปีละ 6% ได้เร็วกว่าแผนฯ ที่วางไว้ใน 5 ปีข้างหน้าภายหลังจากการเข้าถือหุ้น 20% ในแหล่งโอมาน บล็อก 61 ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซฯ บนบกที่มีปริมาณสำรองขนาดใหญ่ที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติถึงประมาณ 35% ของประเทศโอมาน และเป็นแหล่งที่มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำกว่า 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ทั้งนี้ การทบทวนตัวเลขเป้าหมายการเติบโตในอนาคต สืบเนื่องจากบริษัทมีฐานการผลิตและจำหน่ายปิโตรเลียมที่สูง และการตั้งเป้าเติบโตจะทำให้บริษัทต้องเร่งเพิ่มปริมาณสำรองมากขึ้นตามไปด้วย
ปัจจุบัน ปตท.สผ.กำหนดเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมปีนี้อยู่ที่ 398,000 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากเป้าเดิมที่วางไว้ 375,000 บาร์เรล/วัน หรือโตขึ้นเฉลี่ย 12% หลังจากเข้าลงทุนถือหุ้นในแหล่งโอมาน บล็อก 61 และจะมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 700,000 บาร์เรล/วันในปี 2568