ปตท.สผ.โอดยังเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตและหลุมเจาะผลิตแหล่งเอราวัณไม่ได้ ชี้เป็นส่วนสำคัญที่สุดทำให้บริษัทปฏิบัติตามสัญญา PSC ได้ ส่วนการบรรลุข้อตกลงความร่วมมือไอทีกับเชฟรอนเมื่อกลาง มี.ค.นี้เป็นการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศนอกชายฝั่งเท่านั้น พร้อมเรียกร้องความจริงใจจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน
นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทยังคงไม่สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิตในโครงการ G1/61 (เอราวัณ) ได้ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้บริษัทสามารถดำเนินการผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา PSC ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน เนื่องจากเชฟรอนฯ ในฐานะผู้รับสัมปทานปัจจุบันของแหล่งเอราวัณยังไม่ยินยอมให้เข้าดำเนินการดังกล่าว
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าเชฟรอนฯ กับ ปตท.สผ.ได้ข้อตกลงความร่วมมือเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้ตกลงกันเมื่อเร็วๆ นี้นั้น เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของการส่งมอบการดำเนินงานในส่วนของการผลิตจากแท่นหลุมผลิตเดิมเท่านั้น ซึ่งถือเป็นหน้าที่ที่ผู้รับสัมปทานปัจจุบันจะต้องทำอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีผลทำให้ปตท.สผ.สามารถเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตและเจาะหลุมผลิตเพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา PSC หลังเป็นผู้ดำเนินการแหล่งเอราวัณในเดือนเมษายน 2565
“ปตท.สผ.ยังคาดหวังว่าจะได้รับความร่วมมืออย่างจริงใจจากผู้รับสัมปทานปัจจุบัน ร่วมกับการประสานงานจากหน่วยงานรัฐที่จะช่วยให้สามารถผลิตก๊าซฯ ให้ประเทศได้อย่างต่อเนื่องในอนาคต”
อย่างไรก็ตาม บริษัทเชฟรอนฯ และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังอยู่ระหว่างการเจรจาการส่งมอบงานส่วนสำคัญอีกหลายส่วน เช่น การถ่ายโอนแท่นหลุมผลิตปัจจุบันและข้อมูลการดำเนินงาน
ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ขอให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประสานงานกับเชฟรอนเพื่อให้ ปตท.สผ.เข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิตจำนวน 8 แท่นในพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ เป็นไปตามสัญญา PSC เดือนเมษายน ปี 2565 ซึ่งปัจจุบันเชฟรอนไม่ได้มีการลงทุนเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมทำให้ปริมาณก๊าซฯจากแหล่งเอราวัณคาดว่าจะหายไปราว 200-300 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากสัญญา PSC แหล่งเอราวัณต้องผลิตก๊าซฯ ได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยบริษัทจะต้องใช้เวลาราว 1-2 ปีจึงจะสามารถทำให้แหล่งเอราวัณกลับมาผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาก๊าซฯ ขาดในช่วงเปลี่ยนผ่าน ทาง ปตท.สผ.จะเร่งผลิตก๊าซจากแหล่งปิโตรเลียมของตนเองในอ่าวไทย ได้แก่ แหล่งบงกช และแหล่งอาทิตย์ รวมทั้งให้ ปตท.จัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาเสริมด้วย