มีการพูดกันไว้ว่า “ใครเป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญามาก ผู้นั้นจะมีความได้เปรียบในการทำธุรกิจมาก” ซึ่งคำพูดนี้ เป็นความจริงในยุคปัจจุบัน เพราะทรัพย์สินทางปัญญา หรือนวัตกรรม ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะการดำรงชีวิตของคนทุกวันนี้ ล้วนแต่เกี่ยวข้องและสัมผัสกับทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่รอบตัวไม่มากก็น้อย ตั้งแต่ของกิน ของใช้ ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทำให้ทุกประเทศให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขอรับการคุ้มครอง และปกป้องสิ่งที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมา
ในการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาว่ายากแล้ว แต่การรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา กลับกลายเป็นเรื่องที่ยากกว่า เพราะปัจจุบัน มีธุรกิจหลายๆ ธุรกิจ มักจะมองข้าม หรือไม่ให้ความสำคัญกับการต่ออายุการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหลุดมือไป เพราะความผิดพลาด หรือความไม่ใส่ใจในการทำธุรกิจตัวเอง
ปีๆ หนึ่ง มีสิทธิบัตรถูกเพิกถอนกว่า 2,000 ฉบับ
นายธีระศักดิ์ สีนา ผู้อำนวยการกองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายถึง “การเพิกถอนสิทธิบัตรกรณีไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามกฎหมาย” ว่า แต่ละปี มีสิทธิบัตรจำนวนไม่น้อยที่ถูกเพิกถอน เพราะไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปี อย่างน้อยปีละ 2,000 กว่าฉบับ จึงเกิดผลกระทบโดยตรงต่อเจ้าของสิทธิบัตรและประโยชน์โดยรวมต่อการได้ใช้ผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร
“ปัญหาที่เกิดขึ้น ถือว่า น่าเสียดาย เพราะสิทธิบัตรแต่ละฉบับ กว่าจะรับการจดทะเบียน ก็ใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน เมื่อถึงเวลาที่ต้องชำระค่าธรรมเนียม กลับไม่มีการชำระค่าธรรมเนียมภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจเรื่องข้อกฎหมายเกี่ยวกับการชำระค่าธรรมเนียมว่าต้องชำระในวันเวลาใด หรือต้องคำนวณระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมรายปีแต่ละปีอย่างไร หรือเกิดจากความผิดพลาดอื่นใด ทำให้เสียสิทธิในสิทธิบัตร ทั้งๆ ที่ไม่ได้เกิดจากเจตนาของเจ้าของสิทธิบัตรที่ไม่ต้องการใช้สิทธิบัตรแต่อย่างใด”
ใครต้องมีหน้าที่เสียค่าธรรมเนียมรายปี
นายธีระศักดิ์ อธิบายต่อว่า ภายใต้กฎหมายสิทธิบัตร กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิบัตรหรือเจ้าของสิทธิบัตร มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปีตามที่กำหนดในกฎกระทรวง สำหรับหน่วยงานของรัฐ มูลนิธิ สถาบันการศึกษาตามประกาศคณะกรรมการสิทธิบัตรกำหนดรายชื่อหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการขอรับสิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร จะได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมทุกรายการ
ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติผู้ใดจะชำระค่าธรรมเนียมแทนเจ้าของสิทธิบัตรก็ได้ โดยปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาเปิดรับชำระค่าธรรมเนียมรายปี 4 ช่องทาง ได้แก่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ระบบการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-filing) และส่งธนาณัติทางไปรษณีย์
ต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อใด
สำหรับประเด็นนี้ นายธีระศักดิ์ ระบุว่า มีความสำคัญมาก เนื่องจากกฎหมายสิทธิบัตรกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีแตกต่างกันไปในแต่ละสิทธิบัตร กล่าวคือ ปีที่ 1 ถึงปีที่ 4 นับแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี (ไม่ว่าจะได้รับจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้วหรือไม่) และเมื่อได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้ว จะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี โดยเริ่มต้นชำระปีที่ 5 นับจากวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร และปีถัดไปทุกปี จนครบอายุความคุ้มครองตามกฎหมาย
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน ขอยกตัวอย่างเป็นกรณีๆ ไป โดยกรณีได้รับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรภายใน 5 ปี นับแต่วันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายใน 60 วัน นับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาของปีที่ 5 ของอายุสิทธิบัตร ยกตัวอย่างเช่น ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2560 และได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2563 ซึ่งปีที่ 1-4 ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี จะเริ่มชำระเมื่อขึ้นปีที่ 5 คือ วันที่ 1 ม.ค. 2564 โดยต้องชำระภายใน 60 วัน คือ วันที่ 1 มี.ค. 2564 จะไม่เสียค่าปรับ แต่ถ้าไม่ได้ชำระในช่วงเวลาดังกล่าว ยังชำระได้อีกภายใน 120 วัน แต่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละ 30 ของเงินค่าธรรมเนียมรายปี คือ ตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค.- 29 มิ.ย. 2564 รวมระยะเวลาที่สามารถชำระค่าธรรมเนียมรายปีได้ คือ 180 วัน ดังนั้น หากผู้ทรงสิทธิบัตรชำระค่าธรรมเนียมเกินวันที่ 29 มิ.ย. 2564 สิทธิบัตรหรืออนุสิทธิบัตร จะถูกเพิกถอนตามกฎหมาย
กรณีได้รับจดทะเบียนและออกสิทธิบัตรหลังเริ่มต้นระยะเวลาของปีที่ 5 ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายใน 60 วัน นับแต่วันออกสิทธิบัตร ยกตัวอย่างเช่น ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2558 และได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563 ซึ่งปีที่ 1-4 ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียมเหมือนเดิม แต่ปีที่ 5 ต้องเริ่มชำระค่าธรรมเนียม แต่ได้รับการจดสิทธิบัตร หลังปีที่ 5 คือ ปีที่ 6 ให้เริ่มนับวันชำระค่าธรรมเนียมตั้งแต่วันได้รับจดทะเบียน คือ 15 ม.ค. 2563 มีกำหนด 60 วันถึง 15 มี.ค. 2563 ไม่เสียค่าปรับ แต่ถ้าไม่ชำระ ยังสามารถชำระได้ภายใน 180 วัน ถึงวันที่ 13 ก.ค. 2563 แต่ต้องเสียค่าปรับ ถ้าเกินไปจากนี้ ก็จะถูกเพิกถอน
กรณีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีครั้งถัดไป (ได้มีการชำระค่าธรรมเนียมปีที่ 5 มาแล้ว) ต้องชำระค่าธรรมเนียมภายใน 60 วันนับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาของปีนั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2558 และได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563 (ภายหลังปีที่ 5) จะมีช่วงเวลาการนับระยะเวลาของสิทธิบัตรในปีถัดไป หรือปีที่ 7 คือ นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 ต้องชำระภายใน 60 วัน ถึงวันที่ 1 มี.ค. 2564 และ 120 วันถึงวันที่ 29 มิ.ย. 2564
นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ชำระค่าธรรมเนียมรายปีล่วงหน้า โดยกฎหมายสิทธิบัตรกำหนดให้เจ้าของสิทธิบัตรสามารถชำระค่าธรรมเนียมรายปีล่วงหน้าโดยการชำระทั้งหมดในคราวเดียวแทนการชำระในแต่ละปีได้ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อผู้ทรงสิทธิบัตรจะได้ไม่ต้องกังวลว่าชำระค่าธรรมเนียมในแต่ละปีแล้วหรือไม่
วัตถุประสงค์ของกฎหมาย ไม่อยากตัดสิทธิ์
นายธีระศักดิ์ กล่าวว่า มาตรา 43 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีเจตนาที่จะผ่อนปรนเรื่องการชำระค่าธรรมเนียมรายปี โดยกฎหมายกำหนดให้อำนาจคณะกรรมการสิทธิบัตรใช้ดุลพินิจขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียม หรือการชำระค่าธรรมเนียมเพิ่ม หลังสิ้นกำหนดเวลาที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีตามกฎหมาย เพราะการขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียม น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า หากพิจารณาเปรียบเทียบกับเหตุแห่งการเพิกถอนสิทธิบัตร เพราะความไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือเพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายสิทธิบัตรกำหนดให้การประดิษฐ์นั้นสามารถรับจดทะเบียนสิทธิบัตรได้
ดังนั้น หากเจ้าของสิทธิบัตรไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีและค่าธรรมเนียมเพิ่ม อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งปัจจุบันอธิบดีได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการกองสิทธิบัตร หรือผู้อำนวยการกองสิทธิบัตรออกแบบ เป็นผู้มีอำนาจในการรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิบัตร เพื่อพิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรเพราะเหตุแห่งการไม่ชำระค่าธรรมเนียม และเมื่อคณะกรรมการสิทธิบัตรสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรแล้ว ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสิทธิบัตรจะทำหนังสือแจ้งให้เจ้าของสิทธิบัตรทราบคำสั่งเพิกถอน ซึ่งเมื่อผู้ทรงสิทธิบัตรได้รับทราบคำสั่งแล้ว สามารถร้องขอต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรภายในกําหนด 60 วัน นับแต่วันทราบคําสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรว่ามีเหตุจําเป็นที่ไม่อาจชําระค่าธรรมเนียมรายปี และค่าธรรมเนียมเพิ่มภายในกําหนดเวลา เพื่อให้คณะกรรมการสิทธิบัตรพิจารณาอนุญาตให้ขยายกำหนดเวลาหรือเพิกถอนคําสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรนั้นได้
แนวทางผ่อนหนักเป็นเบามีอะไรบ้าง
สำหรับแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร มีหลักการดังนี้
1. กรณีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีครั้งแรก กล่าวคือ เป็นการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ปีที่ 5 คณะกรรมการสิทธิบัตรพิจารณาโดยมีหลักการว่า ถือว่าเป็นการกระทำผิดครั้งแรก ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่เข้าใจในการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ประกอบกับการพิจารณารับจดทะเบียนใช้เวลานาน จึงอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมรายปีและเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรแก่เจ้าของสิทธิบัตรทุกกรณี
2. กรณีที่ไม่ใช่เป็นการชำระค่าธรรมเนียมรายปีครั้งแรก คณะกรรมการสิทธิบัตรจะพิจารณาตามเหตุจำเป็นที่เจ้าของสิทธิบัตรกล่าวอ้างพร้อมพยานหลักฐานที่ทำให้ไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมรายปีได้ภายในกำหนดเวลาว่า มีเหตุผลความจำเป็นที่ฟังขึ้นหรือไม่ ซึ่งหากกล่าวอ้างว่า ไม่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนให้ชำระค่าธรรมเนียมรายปี หรือไม่เข้าใจการชำระค่าธรรมเนียมรายปี หรือเกิดปัญหาเกี่ยวกับบุคลากรผู้รับผิดชอบชำระค่าธรรมเนียมแทน คณะกรรมการสิทธิบัตรจะไม่อนุญาต
เพราะกฎหมายสิทธิบัตรได้กำหนดให้การชำระค่าธรรมเนียมรายปีเป็นหน้าที่ของผู้ทรงสิทธิบัตรที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปี ผู้ทรงสิทธิบัตรได้มีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีปีที่ 5 มาแล้ว แสดงว่า ผู้ทรงสิทธิบัตรมีความรู้ความเข้าใจในการชำระค่าธรรมเนียมรายปีของสิทธิบัตรแล้ว และกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการจัดทำตัวอย่างการนับวันชำระค่าธรรมเนียมรายปี และตารางอัตราค่าธรรมเนียมรายปีโดยแจ้งไปพร้อมกับส่งหนังสือสำคัญของการจดทะเบียน ซึ่งผู้ทรงสิทธิบัตรจะสามารถคำนวณได้ว่าต้องมีการชำระค่าธรรมเนียมรายปีช่วงเวลาใด
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิบัตรเคยมีมติอนุญาตและเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนสิทธิบัตร โดยให้เจ้าของสิทธิบัตรชำระค่าธรรมเนียมภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเพิกถอนคำสั่งเพิกถอนสิทธิบัตร เนื่องจากมีพยานหลักฐานที่แน่ชัดว่าเจ้าของสิทธิบัตรขาดสภาพคล่องทางการเงินจริง
ดูตัวอย่างคดีที่ศาลเคยตัดสิน
ทั้งนี้ แม้คณะกรรมการสิทธิบัตร จะได้มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรไปแล้ว แต่ก็มีผู้ประกอบการบางราย ที่ได้ใช้สิทธิ์ในการต่อสู้ในชั้นศาล และมีคำพิพากษาของศาลออกมาแล้วหลายคดี เช่น คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ทป.133/2546, คำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขดำที่ ทป.113/2556 คดีหมายเลขแดงที่ ทป.122/2557, คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2585/2559 และคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง คดีหมายเลขดำที่ ทป.14/2559 คดีหมายเลขแดงที่ ทป.88/2560 โดยส่วนใหญ่ตัดสินว่า ที่คณะกรรมการสิทธิบัตรมีมติให้เพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ และไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ชอบด้วยกฎหมาย เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากความผิดพลาดของตัวผู้ประกอบการ ที่ปล่อยปละละเลย ไม่จ่ายค่าธรรมเนียมเอง
ปรับปรุงกฎหมายเพื่อสร้างความสมดุล
นายธีระศักดิ์ สรุปว่า หากพิจารณาแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิบัตร และแนวคำพิพากษาของศาลแล้ว จะเห็นว่า มีแนวทางและหลักการพิจารณาเรื่องการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมรายปีอย่างเคร่งครัด จึงเห็นว่าควรที่จะมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรเพื่อลดขั้นตอนการดำเนินการ และเพื่อให้การพิจารณาเพิกถอนสิทธิบัตรมีความยืดหยุ่นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้โอกาสแก่เจ้าของสิทธิบัตรในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิบัตรของตนและแสวงหาประโยชน์โดยชอบจากสิทธิบัตรอย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้นักประดิษฐ์มีแรงจูงใจที่จะคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อันเป็นการสร้างความสมดุลแห่งประโยชน์ของเจ้าของสิทธิบัตรและสาธารณชนที่จะได้รับประโยชน์จากสิทธิบัตร และเกิดรายได้แก่รัฐในการได้รับค่าธรรมเนียมรายปีเป็นรายได้แผ่นดิน
“เห็นว่า ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรโดยกำหนดให้การไม่ชำระค่าธรรมเนียมรายปีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจะถูกเพิกถอนสิทธิบัตรโดยผลของกฎหมาย แทนที่จะให้คณะกรรมการสิทธิบัตรเป็นผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอน เพราะในทางปฏิบัติการเพิกถอนของคณะกรรมการสิทธิบัตรเป็นไปตามรายงานของอธิบดี ซึ่งสรุปข้อมูลมาจากฐานข้อมูลสิทธิบัตร (E-Patent) และกำหนดให้คณะกรรมการอาจมีคำสั่งอนุญาตให้ชำระค่าธรรมเนียมรายปีพร้อมทั้งค่าธรรมเนียมเพิ่มร้อยละ 50 ของเงินค่าธรรมเนียมรายปีนั้นภายในกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรก็ได้ด้วย ซึ่งเป็นไปตามหลักการของร่าง พ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... เนื่องจากปัจจุบันคณะกรรมการสิทธิบัตรไม่มีอำนาจในการกำหนดให้เจ้าของสิทธิบัตรต้องชำระค่าธรรมเนียมเพิ่ม”
นอกจากนี้ เห็นควรมีมาตรการทางบริหารโดยการใช้เทคโนโลยีมาใช้คำนวณวันชำระค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย โดยการพัฒนาและประชาสัมพันธ์แอปพลิเคชัน ePatentService ให้เจ้าของสิทธิบัตรหรือตัวแทนสิทธิบัตรได้ใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น หรือจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือตารางคำนวณวันชำระค่าธรรมเนียมอย่างละเอียดให้กับเจ้าของสิทธิบัตรได้รับทราบว่าต้องชำระค่าธรรมเนียมในวันใดในแต่ละปีตลอดอายุการคุ้มครองสิทธิบัตร โดยอาจสร้าง QR Code สำหรับเอกสารการนับระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมมอบให้ไปพร้อมกับหนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนสิทธิบัตร และควรจัดทำระบบการแจ้งเตือนการชำระค่าธรรมเนียมผ่านอีเมลล์หรือระบบส่ง SMS ทางโทรศัพท์ให้เจ้าของสิทธิบัตรหรือตัวแทนสิทธิบัตรได้รับทราบวันชำระค่าธรรมเนียมก่อนสิ้นกำหนดเวลาตามที่กฎหมายกำหนด
แต่กว่ากฎหมายฉบับแก้ไขใหม่จะคลอด หรือกว่าจะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ ซึ่งคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่ง แต่ในระยะนี้ ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบ ตรวจเช็กว่าสิทธิบัตร ที่ตัวเองมีอยู่นั้น ชำระค่าธรรมเนียมรายปีแล้วหรือยัง ถ้ายัง ก็ต้องรีบชำระให้ทันเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะถ้ายิ่งเป็นสิทธิบัตรสินค้าดี เด่น ดัง เป็นที่นิยมแล้ว โอกาสที่จะเสียหายยิ่งมีมาก ไม่อยากให้ต้องมานั่งเสียใจในภายหลัง