กรมเจ้าท่า เปิดเวทีถก “ปัญหาการขนส่งภายในประเทศ และการขนส่งสาธารณะ กับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ” จากภาครัฐและเอกชน และรวบรวมความคิดเห็น วิเคราะห์และแก้ไข พัฒนากฎหมาย เพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขันด้านการขนส่งของประเทศ
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า กรมเจ้าท่าได้ได้จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นเรื่อง “ปัญหาการขนส่งภายในประเทศ และการขนส่งสาธารณะ กับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ซี่งมีทั้งเวทีสำหรับหน่วยงานภาครัฐที่จะมาร่วมพิจารณาในเรื่องความเหมาะสมในการปรับปรุงแก้ไขขอบเขตกฎหมายการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ และมีเวทีสำหรับภาคเอกชนที่จะมาช่วยสะท้อนปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมายการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในระยะที่ผ่านมา
โดยการสัมมนามีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็น 1. การพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายตามรอบระยะเวลาที่กฎหมายนั้นใช้บังคับว่าควรแก้ไข ปรับปรุง ในนิยามการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามมาตรา 4 และสัญญาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบตามมาตรา 7 แห่ง พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจากหน่วยงานภาครัฐ 2. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานเรื่องการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบจากหน่วยงานภาคเอกชน
ทั้งนี้ เชื่อว่าผลการสัมมนาในครั้งนี้จะช่วยให้ประเทศไทยได้พัฒนากฎหมายการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ อันเป็นกลไกสำคัญในการสร้างระบบการขนส่งที่ไร้รอยต่อที่มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อระหว่างรูปแบบการขนส่งตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคม รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับใหม่อีกด้วย
กรมเจ้าท่ามีภารกิจเกี่ยวกับการกำกับดูแล การส่งเสริม การพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี ให้มีการเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่นๆ ทั้งการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า ท่าเรือ อู่เรือ กองเรือไทย และกิจการเกี่ยวเนื่อง ให้ครอบคลุมถึงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เป็นการประกอบกิจการเพื่อรองรับการบริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในรูปแบบการขนส่งที่แตกต่างกันตั้งแต่สองรูปแบบขึ้นไปภายใต้สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบฉบับเดียว จากสถานที่ซึ่งผู้ประกอบขนส่งต่อเนื่องได้รับมอบของในประเทศหนึ่งไปยังสถานที่ซึ่งกำหนดให้เป็นสถานที่ส่งมอบของในอีกประเทศหนึ่ง (Place to Place หรือ Port to Place หรือPlace to Port) เป็นตามพระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. 2548 ซึ่งได้กำหนดเป็นกฎหมายเฉพาะที่ตราขึ้นเพื่อรองรับการปฎิบัติตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ