“พาณิชย์” แนะ “ร้านอาหาร” ปรับตัว เพิ่มช่องทางการขายออนไลน์และดีลิเวอรี จะขายหน้าร้านแบบเดิมไม่ได้ หลังเกิดชีวิตวิถีใหม่ เผยล่าสุดได้จับมือ แม็คโคร-โฮเรก้า อคาเดมี่-Robinhood-วีเชฟ มาร่วมให้ความรู้แก่ร้านอาหาร เตรียมเปิดอบรมรุ่น 2 วันที่ 21 เม.ย.-6 พ.ค.นี้
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “Smart Restaurant Plus” รุ่นที่ 1 ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เห็นว่าการทำธุรกิจร้านอาหารไม่สามารถจะมีหน้าร้านเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจจำเป็นจะต้องมีช่องทางการขายที่หลากหลาย โดยเฉพาะผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนเมื่อเกิดวิกฤตขึ้นร้านอาหารไม่ว่าขนาดเล็กหรือใหญ่ ที่สามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบการขายแบบดีลิเวอรีได้อย่างรวดเร็วก็จะสร้างยอดขายให้เติบโตได้แบบก้าวกระโดด สะท้อนให้เห็นว่าทักษะในการบริหารจัดการร้านอย่างรอบด้าน และการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่คนทำธุรกิจต้องเข้าใจ
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้ง 2 ครั้ง ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจเป็นอย่างมาก ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงสู่การบริโภควิถีปกติใหม่ หรือ New Normal มีการเว้นระยะห่างทางสังคมและใช้เวลาอยู่ในที่พักอาศัยกันมากขึ้น แต่ธุรกิจร้านอาหารยังมีแนวโน้มเติบโตต่อได้หากสามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยจำเป็นต้องปรับวิธีการบริหารจัดการร้านอาหารและนำแพลตฟอร์มออนไลน์มาช่วยขยายโอกาสทางการตลาดมากขึ้น และกระทรวงพาณิชย์ก็พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ทั้งในด้านการบริหารจัดการร้านค้า การพัฒนาธุรกิจ เพื่อสร้างความพร้อมรับมือกับการแข่งขัน” นายบุณยฤทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้กำหนดจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “Smart Restaurant Plus” หลักสูตร 6 วัน (36 ชั่วโมง) จำนวน 2 รุ่น คือ รุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 15-30 มี.ค. 2564 และรุ่นที่ 2 ระหว่างวันที่ 21 เม.ย. - 6 พ.ค. 2564 โดยได้รับความร่วมมือจากแม็คโคร โฮเรก้า อคาเดมี่ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจอาหารแบบครบวงจร มาถ่ายทอดความรู้ และยังได้รับความร่วมมือ จาก บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ เจ้าของแอปพลิเคชันบริการสื่อและจัดส่งอาหาร Robinhood และบริษัท วีเชฟ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำระบบฟูดเซอร์วิสแพลตฟอร์มและฟู้ดทรัก สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ มาร่วมเผยเคล็ดลับและแนวทางการปรับตัวให้ธุรกิจเติบโตในสภาวะวิกฤต พร้อมฝึกปฏิบัติด้านการถ่ายภาพอาหารและการออกแบบครัว เพื่อใช้ทำการตลาดผ่านสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก และไลน์ เป็นต้น
ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจร้านอาหาร จำนวนทั้งสิ้น 16,541 ราย มีทุนจดทะเบียนมูลค่า 108,714.46 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ก.พ. 2564) และมีแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจร้านอาหารเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว